มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ แถลงการณ์ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ กรณี กสทช. จะล่มสลายเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ

แถลงการณ์ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ กรณี กสทช. จะล่มสลายเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ

อีเมล พิมพ์ PDF

 แถลงการณ์ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖

เรื่อง ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น

กรณี กสทช. จะล่มสลายเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ

          ด้วยสำนักงาน กสทช. มีหนังสือถึงมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ สทช ๔๐๐๙/ว๑๙๔๘๓ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่อง ขอคืนคำขอทดลองประกอบกิจการพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ๑) ต้องการล่มสลายเครือข่ายสถานีวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ จำนวน ๑๒๗ แห่ง ให้แตกกระจัดกระจายออกจากกันเป็นการถาวร โดย กสทช. ไม่ยอมให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยื่นแบบคำขอแก่สถานีในเครือข่ายทั้ง ๑๒๖ แห่ง บังคับให้ยื่นแบบได้เพียงสถานีเดียวเท่านั้น คือ สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ๒) ต้องการแจ้งให้ทราบว่า กสทช. ได้บันทึกรายชื่อสถานีวิทยุในเครือข่ายเสียงธรรมฯ พร้อมใส่รหัสในระบบสารสนเทศแล้วโดยตัดคำว่า “เสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ” ออกจากชื่อเดิมของสถานีทั้ง ๑๒๗ แห่ง ๓) ต้องการให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำแนะนำของ สำนักงาน กสทช. จึงมีหนังสือให้คืนคำขอและให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ มารับเอกสารกลับคืน ณ สำนักงาน กสทช. กรุงเทพมหานคร ความละเอียดปรากฏตามหนังสือดังกล่าวแล้วนั้น

          มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยึดหลักพระธรรมวินัย หลักธรรมขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน หลักกฎหมาย ข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของผู้บริจาค หลักแห่งความเสมอภาค โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของชาติศาสน์กษัตริย์เป็นหลักเกณฑ์ ได้พิจารณาถึงการกระทำของ กสทช. ดังกล่าวแล้ว กล่าวโดยสรุปเห็นว่า

๑.       สำนักงาน กทช. และ กสทช. ได้ออกเอกสารสิทธิ์แก่ “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” เป็นผู้ได้รับสิทธิในการออกอากาศของเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบันกว่า ๓ ปี ๖ เดือนแล้ว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็ยังมีบทบัญญัติที่รองรับการดำเนินการของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ในสถานะผู้ประกอบการภาคประชาชนในระดับชาติ และยังมีนิยาม “ชุมชน” ในความหมายที่กว้างขวางครอบคลุมถึงกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันอีกด้วยแล้วเช่นนี้ มูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็ยิ่งสมควรเป็นผู้ได้รับเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น การที่ กสทช. ชุดปัจจุบันใช้อำนาจเพิกถอนสิทธิ์ที่มีมายาวนานแต่เดิมที่สำนักงานของตนเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ให้เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายแล้ว และยังหาญกระทำการที่ตรงกันข้ามกับหลักการเดิมของสำนักงาน กทช. และ กสทช. ทั้งๆ ที่ก็เป็นสำนักงานของตนเองได้อีกด้วย

๒.      การที่ กสทช. ยอมรับให้วิทยุรัฐสภา อ.ส.ม.ท. กองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุรายเดิมอื่นๆ มีสถานีในเครือข่ายได้  โดยได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวไม่จำเป็นต้องไปตั้งรัฐสภาแห่งใหม่อยู่ในสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุลูกข่ายแห่งนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องออกไปผลิตรายการอยู่ในสถานีวิทยุลูกข่ายในสถานที่นั้นๆ ด้วย แต่ในกรณีเดียวกัน กลับไม่ยอมให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกันนี้ สิ่งนี้ย่อมแสดงถึงการขาดความเคารพยำเกรงของ กสทช. ต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐ ให้ความคุ้มครองบุคคลให้มีความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติจะกระทำไม่ได้

๓.      มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงฯ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้”  ดังนั้น การที่ กสทช. บีบบังคับให้เครือข่ายเสียงธรรมแต่ละแห่งยื่นคำขอเสียใหม่โดยไม่ให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตออกอากาศอยู่เดิมยื่นคำขอไม่ว่าจะโดยการโอนหรือการยื่นคำขอใหม่นั้น จึงเป็นคำแนะนำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้บริจาคจำนวนมาก ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และขัดต่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะเท่ากับเป็นการปล้นทรัพย์ของสงฆ์และปล้นสิทธิของมูลนิธิเสียงธรรมฯ เนื่องจากเครือข่ายเสียงธรรมทุกแห่งได้มอบกรรมสิทธิ์ทั้งปวงถวายแด่องค์หลวงตาฯ แล้วตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และองค์หลวงตาก็ได้มอบอำนาจให้ “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” เป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิ์ในการออกอากาศแต่เพียงผู้เดียว

๔.      มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ในการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ให้ผู้รับใบอนุญาตแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เป็นผู้อำนวยการสถานีประจำแต่ละสถานี...” นั้น ย่อมเป็นการยืนยันว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ สามารถมีสถานีวิทยุได้มากกว่า ๑ แห่ง การที่ กสทช. ออกคำสั่งให้คืนคำขอทั้งที่ทราบถึงกฎหมายในข้อนี้เป็นอย่างดี แสดงถึงความทะนงตนว่ามีอำนาจล้นฟ้าเหนือกฎหมาย แต่ย่อมไม่เหนือกว่ากรรม

๕.      องค์หลวงตาแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงาน กทช. และ กสทช. ตั้งแต่แรกว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ประกอบกิจการภาคประชาชนในระดับชาติ ซึ่งการจะกระจายเสียงไปทั่วทุกภูมิภาคด้วยเครื่องส่งระบบ FM นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิคที่จะมีสถานีวิทยุเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายไปได้กว้างขวางทั่วประเทศไทย จำเป็นต้องใช้สถานีหลายแห่งในทุกภูมิภาค ซึ่ง กสทช. ย่อมรู้ในข้อจำกัดดังกล่าวเป็นอย่างดียิ่งกว่าองค์กรใดในประเทศไทย ดังนั้น การบังคับมูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในระดับชาติให้มีสิทธิยื่นคำขอเฉพาะที่สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าบ้านตาดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงเป็นหลักฐานประจักษ์ชัดเจนว่า กสทช. มุ่งทำร้ายเจตนารมณ์อันประเสริฐขององค์หลวงตาให้สูญสิ้นไป ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าองค์หลวงตาเป็นผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” และมีปณิธานแน่วแน่ที่จะใช้นิติบุคคลแห่งนี้กำกับดูแลเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศเพื่อโอบอุ้มชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงสถาพรสืบไป การไม่ยอมรับคำขอและจงใจสร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นไม่มีเหตุผลของ กสทช. ในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการทำร้ายสถาบันหลักของชาติและมุ่งร้ายต่อองค์หลวงตาอย่างแท้จริง ไม่สามารถพิเคราะห์เป็นอย่างอื่นได้

๖.       มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยอมรับและยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในสาระสำคัญในข้อที่ ๓ ของหนังสือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากสำนักงาน กสทช. กรุณาอย่าปิดบังและให้ความอนุเคราะห์ถ่ายสำเนาตารางตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารชุดดังกล่าวด้วย เพื่อมูลนิธิเสียงธรรมฯ จักได้ติดตามเสาะหาเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามความประสงค์ของ กสทช. ต่อไป

จึงแถลงการณ์มาเพื่อโปรดพิจารณาและช่วยกันติดตามสอดส่องการทำงานของ กสทช. เกี่ยวกับสถานีวิทยุในเครือข่ายทั้ง ๑๒๗ แห่ง อย่างใกล้ชิด

 

มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖