มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ แถลงการณ์ฉบับที่ ๑ และ ๒ ชี้แจงความจริงและกรณี กสทช. บางท่านให้ข้อมูลสื่อมวลชนคลาดเคลื่อน

แถลงการณ์ฉบับที่ ๑ และ ๒ ชี้แจงความจริงและกรณี กสทช. บางท่านให้ข้อมูลสื่อมวลชนคลาดเคลื่อน

อีเมล พิมพ์ PDF

เรื่อง ชี้แจงความจริงกรณี กสทช. บางท่านจงใจให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเพียงบางส่วน

อันอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินการปกป้องสิทธิการรับฟังของประชาชน
ผู้ฟังเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ
 
          ด้วยมีข่าวบิดเบือนความจริงหรือการให้ข้อมูลแต่เพียงบางส่วนจนเกิดความเสื่อมเสียต่อมูลนิธิเสียงธรรมฯ และประชาชนผู้รับฟัง ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนแห่งหนึ่งว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง (กสท.) กล่าวว่าข้อเรียกร้องของมูลนิธิเสียงธรรมเป็นไปได้ยาก คือ มูลนิธิฯ ขอกำลังส่ง ๑ หมื่นวัตต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาคลื่นสัญญาณวิทยุรบกวนกันแน่นอน และสุดท้ายทำให้สถานีอื่นๆ ต้องยื่นตามแบบในการขอให้เพิ่มกำลังส่งตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ... อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องปกติที่จะโดนฟ้องร้อง แต่สิ่งที่ กสทช. ดำเนินการ คือการนำผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระเบียบเข้ามาจัดการให้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ ของคนส่วนใหญ่ โดยมั่นใจว่าทำตามกฎหมายและสร้างความเสมอภาคกับทุกคนอยู่แล้วไม่ได้มีการ แบ่งแยก หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งนั้น
          มูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอชี้แจงความจริงดังนี้
          ๑. กรณีกล่าวหามูลนิธิเสียงธรรมฯ ว่าขอกำลังส่ง ๑ หมื่นวัตต์นั้น เป็นการให้ข้อมูลเพียงบางส่วนทำให้ผู้บริโภคข่าวรับรู้ความจริงได้เพียงน้อยนิดไม่ครบถ้วนขาดเหตุผล ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและง่ายต่อความเข้าใจผิดว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ ไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผล เห็นแก่ตัว และอาจเป็นปัญหาของสังคมต่อไปได้
          มูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอชี้แจงความจริงว่า ข้อเรียกร้องของมูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นธรรม ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศเป็นที่ตั้ง และยังเป็นการเรียกร้องเพื่อสื่อสร้างสรรค์ทุกประเภทที่ประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่จำกัดไว้แต่เพียงด้านศาสนาเท่านั้น ในขณะที่การดำเนินการของ กสทช. เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้อย่างรุนแรงและปรากฏชัดแจ้งทุกขณะว่า เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์มหาศาลแก่วิทยุรายเดิม(มักเรียกกันว่าคลื่นหลัก) แบบไร้ขีดจำกัดแม้มูลนิธิเสียงธรรมฯ จะพยายามเรียกร้องแล้วก็ทำไม่รับรู้ อาทิเช่น ไม่กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคไว้ในประกาศ กสทช. ฉบับมหาภัยนี้ว่า คลื่นหลักใช้กำลังส่งไม่เกินเท่าใด เสาสูงไม่เกินเท่าใด อายุสัญญา สัมปทาน ใบอนุญาต เริ่มต้นเมื่อใด สิ้นสุดลงเมื่อใด ต่ออายุกันได้เรื่อยๆ โดยไม่บังคับใช้ให้ชัดแจ้งต่อสาธารณชนหรือไม่ เป็นต้น ทั้งๆ ที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๕๓ มาตรา ๘๒ บังคับให้ กสทช. ต้องนำรายละเอียดของวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก)จำนวน ๓๑๔ สถานี แจ้งต่อสาธารณชน ประหนึ่งว่าจงใจปกปิดข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใช้กำลังส่งได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่พยายามบีบบังคับวิทยุรายใหม่ อาทิ วิทยุเสียงธรรมฯ เป็นต้น ให้จำกัดลงเพียง ๕๐๐ วัตต์ และห้ามไปรบกวนคลื่นหลักที่อาจใช้เสาบนอาคารสูงกว่า ๓๐๐ เมตร และใช้กำลังส่งสูงกว่า ๑๐,๐๐๐ วัตต์ กลับเลือกปฏิบัติไม่ใช้อำนาจหน้าที่เข้าควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย
          ความจริงแล้วมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้เสนอข้อเรียกร้องเป็นลำดับดังนี้
          ๑. หนังสือลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ จำนวน ๒ ฉบับ คือ
                    ๑.๑ แสดงเจตนาคัดค้านร่างประกาศ กสทช. ฉบับมหาภัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญที่มีมาตรฐานการปฏิบัติต่อวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก)กับวิทยุรายใหม่อย่างไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในวันเดียวกันที่อาคารวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการฯ นนทบุรี มีการรับฟังสาธารณะมีประชาชนเข้าร่วมกว่า ๑๐,๐๐๐ คน มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้กล่าวคัดค้านเนื้อหาของร่างประกาศฯ ในประเด็นเดียวกันนี้และขอให้ กสทช.ทบทวนใหม่โดยกำหนดให้มีมาตรฐานเทคนิคแก่วิทยุ ๓ ระดับ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยใช้กำลังส่งแตกต่างกันไปอย่างเหมาะสม สำหรับวิทยุขนาดใหญ่ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก)
                    ๑.๒ ขอข้อมูลรายละเอียดของสัญญา สัมปทาน ใบอนุญาต และมาตรฐานเทคนิคของวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก) ต่อกสทช. จนกระทั่งบัดนี้ กสทช. ก็ยังไม่ส่งมาให้ทั้งที่กฎหมายบังคับให้ กสทช. ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่งเค้าว่าจงใจปกปิดเพื่อเอื้อประโยชน์มากขึ้นทุกขณะ
          ๒. หนังสือลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ เพื่อร้องเตือนว่าประชาชนผู้รับฟังเสียงธรรมจำนวนมากต้องการแสดงเจตนาร่วมคัดค้านร่างประกาศฉบับมหาภัยอีกครั้ง ขอให้ทบทวนและแก้ไขให้เหมาะสมโดยควรพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่และมาตรฐานเทคนิคของวิทยุรายเก่า(คลื่นหลัก) และวิทยุรายใหม่โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเสมอภาค มิฉะนั้น ประชาชนจำนวนมากจะไม่ไว้วางใจและไม่ยอมรับ กสทช.
          ๓. หนังสือลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยหนังสือฉบับนี้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับการร้องขอให้ยื่นต่อ กสทช. อย่างเป็นทางการอีกครั้งโดยคำร้องของคุณภูเบศ สุขมงคลชัย กล่าวในที่ประชุมในนามตัวแทนฝ่าย กสทช. ซึ่งที่ประชุมมีดร.นที เป็นประธาน รองเลขาธิการ กสทช. เป็นรองประธาน และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เจ้าหน้าที่ด้านกำหนดมาตรฐานเทคนิค และอื่นๆ เข้าร่วมประชุมด้วย
          หนังสือฉบับนี้มีสาระสำคัญว่า
                    ๓.๑ ประชาชนผู้ฟังเครือข่ายเสียงธรรมฯ ทั่วประเทศไม่ยอมรับ กสทช. และร่างประกาศฉบับมหาภัย และขอสงวนสิทธิการรับฟังที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ ๑๐ ปีไว้ จนกว่าจะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้วิทยุรายเก่าและรายใหม่มีความเสมอภาค หากลดกำลังส่งควรลดด้วยกันเพื่อลดการรบกวน ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้รับฟังและผลงานการทำประโยชน์ต่อสังคมของสถานีอย่างยาวนานเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
                    ๓.๒ เสนอให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะทางเทคนิคของวิทยุ ๓ ขนาด คือ
                              ๓.๒.๑ ขนาดเล็ก กำลังส่งไม่เกิน ๑๐๐ วัตต์ เสาสูงไม่เกิน ๔๐ เมตร เหนือระดับพื้นดิน
                              ๓.๒.๒ ขนาดกลาง กำลังส่งไม่เกิน ๑,๐๐๐ วัตต์ เสาสูงไม่เกิน ๑๐๐ เมตร เหนือระดับพื้นดิน
                              ๓.๒.๒ ขนาดใหญ่ แบ่งตามเขตพื้นที่เช่นเดียวกับวิทยุรายเก่า(คลื่นหลัก)
                                        - ในกรุงเทพมหานคร กำลังส่งไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ วัตต์ เสาสูงเหนือระดับพื้นดินแบบไม่จำกัด (อ้างอิงตามคำยืนยันในที่ประชุมของคุณปริตา วงศ์ชุตินาท และคุณมณีรัตน์ กำจรกิจการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.)
                                        - ในต่างจังหวัด กำลังส่งไม่เกิน ๑,๐๐๐ วัตต์ เสาสูงเหนือระดับพื้นดินแบบไม่จำกัด (อ้างอิงตามคำยืนยันในที่ประชุมของคุณปริตา วงศ์ชุตินาท และคุณมณีรัตน์ กำจรกิจการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.)
          ๔. หนังสือที่ประชาชน ๑๕๑,๗๖๗ รายชื่อ ร่วมแสดงเจตนาไม่ยอมรับ กทสช. และร่างประกาศมหาภัย เป็นหนังสือฉบับสุดท้ายของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่ยื่นต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ก่อนการประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีสาระสำคัญตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับที่ ๑

 
          ด้วยเหตุผลที่ยกมาแต่เพียงสังเขปข้างต้นนี้ ทำให้เห็นความจริงว่า กสทช. พยายามบิดเบือนข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่าทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดไปว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ เสนอ ๑๐,๐๐๐ วัตต์ แก่วิทยุ ๗,๗๐๐ สถานีรายเก่า และ ๓๑๔ สถานีรายใหม่ ทั้งหมด ซึ่งไร้เหตุผลและย่อมเป็นไปไม่ได้ การให้ข้อเช่นนี้เป็นการจงใจปิดบังข้อมูลความจริงเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ
          ที่ถูกต้องแล้ว กสทช. ควรตอบผู้สื่อข่าวว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ มีความห่วงใยวิทยุทุกประเภท จึงเสนอให้มีกำลังส่ง ๓ ขนาด เพื่อรองรับวิทยุทุกขนาดที่ไม่สามารถจะบังคับให้เล็กได้ทั้งหมดทุกรายไปและไม่สามารถจะใหญ่ได้หมดทุกรายไป ในขณะที่แนวคิดของ กสทช. เท่ากับเป็นการทำลายสถานีใหญ่ที่อาจทำประโยชน์ได้มากแก่ประชาชนถูกบังคับให้ต้องเล็กจิ๋วลง และสร้างภาพลวงตาประชาชนและลวงตาสถานีเล็กๆ จำนวนหลายพันสถานีซึ่งใช้กำลังส่งจริงไม่ถึง ๕๐๐ วัตต์ กสทช. กลับออกกฎเกณฑ์เอื้อประโยชน์แก่วิทยุเล็กเหล่านี้โดยไม่จำเป็นด้วยการยกระดับให้กลายเป็นสถานีที่ใหญ่โตเกินจริงจนทำให้สังคมรู้สึกว่าคลื่นจะยิ่งต้องรบกวนกันมากขึ้นสับสนปนเปไปหมด
          ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงไม่เห็นด้วยกับ กสทช. พร้อมกับเสนอทางออกที่เป็นไปได้ ทำได้จริง และเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคม โดยมูลนิธิเสียงธรรมฯ เสนอให้ใช้มาตรฐานทางเทคนิคแก่วิทยุตามความจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน สถานีที่เล็กก็ใช้มาตรฐานเทคนิคขนาดเล็ก สถานีที่มีกำลังขนาดกลางก็ใช้มาตรฐานเทคนิคขนาดกลางรองรับ และสถานีที่มีขนาดใหญ่ทำประโยชน์กว้างขวางก็ใช้มาตรฐานเทคนิคขนาดใหญ่เหมือนวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก)รองรับ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้และสมเหตุสมผลที่สุด และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่สุดเพราะเสนอให้คำนึงถึงสาระประโยชน์ของรายการประกอบการพิจารณาอีกด้วย ข้อเสนอนี้เป็นทางออกของสังคมในขณะที่แนวคิดของ กสทช. จะสร้างปัญหาแก่สังคมใหญ่หลวงเพราะไม่นำหลักเกณฑ์ในเชิงคุณภาพเข้ามาประกอบแต่อย่างใดเลย
          การที่ กสทช. บิดเบือนความจริงในลักษณะนี้ จึงอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ทั้งที่ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นวิทยุรายเดิม(คลื่นหลัก) ๓๑๔ สถานี หรือรายใหม่ประมาณ ๗,๗๐๐ สถานี ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือภาคประชาชน อาจกล่าวได้ว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ เสนอในสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ถ้าทุกฝ่ายลดละอคติและความเห็นแก่ตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช. เอง การเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มหนึ่งๆ อาจเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นผู้ใช้เงินภาษีประชาชนเข้าบ่อนทำลายชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์เสียเองก็เป็นได้ จึงขอให้ กสทช. ลดละอคติทั้ง ๔ เสียตั้งแต่บัดนี้และถอนร่างประกาศฉบับมหาภัยออกจากกระบวนการตราเป็นกฎหมาย เพราะอาจเป็นเหตุให้พระสงฆ์และประชาชนทั้งประเทศไม่อาจยอมรับการทำงานของ กสทช. ชุดนี้อีกต่อไปได้
          อนึ่ง ข้อเสนอของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ยึดถือเอาความถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หลักกฎหมายบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยเป็นหลักเกณฑ์สูงสุด และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งฝ่ายประชาชนผู้บริโภคสื่อและประชาชนผู้ประกอบการ ไม่เห็นแก่อำนาจรัฐและอำนาจทุนยิ่งกว่าอำนาจธรรม และข้อเรียกร้องทุกครั้งของมูลนิธิฯ ก็ได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบรอบด้านที่สุด ภายใต้ข้อมูลจำกัดยิ่งอันเนื่องจาก กสทช. พยายามปิดกั้นอำพรางเสมอมา
จึงออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ ๒ เพื่อประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน และขอความกรุณาทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในระยะนี้ ที่จะเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ ด้วยความระมัดระวังยิ่ง ทั้งนี้เพื่อดำรงกุศลจิตและความเป็นธรรมตลอดการก้าวเดิน มีผลานิสงส์ปกป้องมูลนิธิเสียงธรรมฯ ปกป้องชาติศาสน์กษัตริย์ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยสืบไปตราบเท่านาน
 
มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ
๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕
 

 
 
 
 
 
เรื่อง ชี้แจงความจริงกรณีมีการให้ข่าวบิดเบือน
 
          ด้วยมีข่าวบิดเบือนความจริงปรากฏมากขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความสับสนและป้องกันความเสื่อมเสียที่อาจเกิดขึ้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงขอชี้แจงความจริงในการเดินทางไป กสทช. พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน ๑๕๑,๗๖๗ ราย เพื่อคัดค้านร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ดังนี้
          ๑. กรณีมีกรรมการกสทช. ท่านหนึ่งกล่าวถึงกรณีพระสงฆ์ออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ปรับหลักเกณฑ์บังคับการเรียกคืนคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงหลักกว่า 500 แห่งภายในระยะเวลา 3 ปี ตามสูตร 3-5-7 เพื่อนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรให้กับการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นั้น
          มูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอชี้แจงความจริงว่า ไม่เคยมีการเสนอต่อ กสทช. ในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ความจริงแล้วมูลนิธิเสียงธรรมฯ เสนอขอให้ผู้ประกอบการรายใหม่หลังปี ๒๕๔๓ ที่เป็นนิติบุคคลดำเนินการกว่า ๕ ปี รายการมีสาระประโยชน์กว่า ๙๐% และไม่โฆษณา ขอให้ใช้หลักเกณฑ์การอนุญาตถือครองคลื่นและใช้มาตรฐานเทคนิคเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเดิมก่อนปี ๒๕๔๓ (คลื่นหลัก) จึงจะไม่เป็นความเหลื่อมล้ำและไม่เลือกปฏิบัติเหมือนดังเช่นแนวคิดของ กสทช. ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ แม้ประชาชนเรือนแสนคัดค้านก็เมินเฉย เร่งฝ่ากระแสผลักดันประกาศ กสทช. ฉบับเลือกปฏิบัติให้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่
          ข่าวดังกล่าวจึงเป็นเท็จ เป็นการกล่าวหากันเพื่อให้เกิดความเสียหาย เชื่อถือมิได้
          ๒. กรณีมีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า วันนี้ (23 ส.ค.) พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวถึงกรณีที่พระครูอรรถกิจนันทคุณ วัดป่าดอยลับงา จ. กำแพงเพชร ในฐานะมูลนิธิเสียงธรรม ได้นำคณะพระสงฆ์มาที่ กสทช. เพื่อขอให้ กสทช. ยุติประกาศฉบับดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ท่านได้ยื่นข้อเสนอให้กสท.เพิ่มกำลังส่งเป็น 500 – 1000 วัตต์ จากเดิมที่ได้กำหนดเพียง 100 วัตต์ ทางกสท.ก็มีมติเพิ่มกำลังส่งให้เป็น 500 วัตต์ ส่วนเสาส่งที่ตอนแรกกำหนดให้สูงไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งท่านขอเพิ่มความสูงของเสาส่งเป็น 60 เมตร ที่ประชุมกสท.ก็มีมติเพิ่มให้เป็น 60 เมตรแล้ว พ.อ.ดร..นที ยังกล่าวด้วยว่า
          “สิ่งที่ท่านพระครูเสนอมา กสท. ก็รับฟังแล้วปรับให้ แต่ท่านก็เสนอขอเรื่องอื่นๆ ซึ่งระหว่างที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทาง กสท. ก็รับฟังแล้วนำมาพิจารณาเพื่อปรับและนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียม อย่างไรก็ตามยืนยันว่าต้องนำเรื่องของการประกอบกิจการวิทยุเข้าสู่กระบวนการ เพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคและมาตรฐานต่างๆ” นั้น
          มูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอชี้แจงความจริงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการให้ร้ายป้ายสีหรือกล่าวข้อมูลอันเป็นเท็จแก่พระครูอรรถกิจนันทคุณ ทั้งนี้เนื่องจากมูลนิธิเสียงธรรมฯและพระครูอรรถกิจนันทคุณไม่เคยเสนอขอในประเด็นนี้แต่อย่างใดเลย วิธีคิดเช่นนี้รังแต่จะสร้างปัญหาให้วิทยุต่างๆ หนักขึ้นไปอีก  ไม่ควรเอามาตรฐานเทคนิคขนาดเดียวเป็นตัวตั้ง การบังคับวิทยุขนาดเล็กให้ใหญ่หรือการบังคับวิทยุขนาดใหญ่ให้เล็กเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ควรยึดเอาประโยชน์ของประชาชนในการรับฟังข้อมูลข่าวสารที่มีสาระประโยชน์เป็นสำคัญจึงจะมีความเป็นธรรม
          ความจริงแล้วในเรื่องนี้เคยมีผู้ติดต่อกับ พ.อ.ดร.นที และพยายามเข้ามาขอร้องให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยอมรับเงื่อนไขเครื่อง ๕๐๐ วัตต์ เสา ๖๐ เมตร มาก่อนแล้ว แต่มูลนิธิเสียงธรรมฯ พิจารณาเห็นว่าปราศจากเหตุผลและไม่เป็นธรรม ผลที่ได้เกิดแก่ประชาชนจะเป็นโทษต่อประชาชนมากกว่าจึงได้ปฏิเสธในข้อเสนอนี้อย่างจริงจัง
          ข่าวที่ปรากฏข้างต้นนี้จึงเป็นเท็จและเป็นการกล่าวใส่ร้ายพระครูอรรถกิจนันทคุณอย่างรุนแรง
          สำหรับข้อเสนอของมูลนิธิเสียงธรรมฯ เกี่ยวกับมาตรฐานเทคนิคนั้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้เสนอขอให้ กสทช. กำหนดมาตรฐานเทคนิค ๓ ขนาด คือ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับความจริง โดยที่ขนาดใหญ่ให้มีกำลังส่งสูงและใช้มาตรฐานเทคนิคเช่นเดียวกับคลื่นหลักเพื่อความเสมอภาค
          ๓. กรณีตัวแทนพระสงฆ์และประชาชนผู้รับฟังเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมจำนวนประมาณ ๑,๒๐๐ คน เข้ายื่นหนังสือเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ต่อ กสทช. พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน ๑๕๑,๗๖๗ ราย แสดงเจตนาไม่ยอมรับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการลดเสาและกำลังส่งแก่สถานีที่มีสาระประโยชน์จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการรับฟังและปฏิบัติธรรมของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จึงได้ยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขให้กำหนดหลักเกณฑ์ต่อสถานีที่สามารถใช้กำลังสูงมีมาตรฐานเดียวกับคลื่นหลักได้ ต้องมีคุณสมบัติโดยย่อดังนี้
๑.    มีเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า ๙๐% นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ อาทิ ส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ฯลฯ  อีก ๑๐% กำหนดให้เป็นรายการบันเทิงแต่ต้องมีสาระประโยชน์
๒.   ไม่มีการโฆษณาเพื่อแสวงหากำไรในทางธุรกิจแม้วินาทีเดียวตั้งแต่เริ่มประกอบการ
๓.   มีผลงานในการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
๔.   ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีการกระจายเสียงและการดำเนินงานตามข้อ ๑-๓ อย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย ๕ ปี
๕.   สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นประเภทบริการสาธารณะหรือบริการชุมชนก็ได้ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกัน และชุมชนตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็มีความหมายครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันโดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ ๑-๔
๖.    ส่งเสริมให้วิทยุธุรกิจซึ่งมีกว่า ๗,๐๐๐ สถานี คิดเป็นสัดส่วนกว่า ๙๐% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ร่วมกันลงทุนโดยหากดำเนินการมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี มีสาระประโยชน์มากก็ควรได้มาตรฐานเทคนิคที่สูงขึ้นตามลำดับ หากร่วมกิจการ ๒ ราย กสทช.จะลดหย่อนค่าธรรมเนียมและให้เวลาโฆษณามากขึ้น โดยมีมาตรฐานเทคนิคขนาดกลาง แต่หากร่วม ๓ หรือ ๔ หรือ ๕ ราย ก็ได้สิทธิพิเศษมากขึ้นตามลำดับ และได้มาตรฐานเทคนิคสูงเทียบเท่าคลื่นหลัก 
จึงขอแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน และขอความกรุณาใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษในการบริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ ในระยะนี้