มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ ประชาชน 151,767 รายชื่อ ยื่นหนังสือไม่ยอมรับ กสทช. - คำสัตย์ปฏิญาณปกป้องเสียงธรรม

ประชาชน 151,767 รายชื่อ ยื่นหนังสือไม่ยอมรับ กสทช. - คำสัตย์ปฏิญาณปกป้องเสียงธรรม

อีเมล พิมพ์ PDF

ประชาชน 151,767 รายชื่อ ยื่นหนังสือไม่ยอมรับ กสทช. - คำสัตย์ปฏิญาณปกป้องเสียงธรรม

เลขที่ มธป. ๒๘/๒๕๕๕                                                                   มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ  
๓๐๙/๑ หมู่ ๑ ตำบลบ้านตาด
อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
                                                                                      
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕
 
เรื่อง    รายชื่อประชาชนจำนวน              151,767            รายชื่อ ไม่ยอมรับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง เนื่องจากเป็นมหาภัยร้ายแรงต่อการรับฟังและปฏิบัติธรรมของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไข
เรียน    ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
อ้างถึง หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ มธป. ๒๔/๒๕๕๕ ลว. ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕
          ด้วยร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานทางเทคนิค           เป็นสิ่งปรากฏชัดแจ้งถึงแนวคิดในการจัดสรรคลื่นความถี่และการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ชุดปัจจุบันว่า ไม่มีความเป็นธรรมในการจัดสรรคลื่นความถี่ ขัดแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ส่งผลเสียหายต่อสถานีวิทยุเพื่อสังคมทั้งหลายที่ทุ่มเททำประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงกำไรในทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุเพื่อสาธารณะด้านพุทธศาสนา เป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางศาสนาซึ่งเป็นสถาบันหลักหนึ่งของประเทศ เพราะทำให้ขอบเขตการกระจายเสียงของสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนและสถานีอื่นที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกันนี้ลดลง เป็นผลให้พระป่าสายปฏิบัติรับฟังหลักธรรมคำสอนจากสถานีวิทยุเหล่านี้ไม่ได้หรือรับฟังได้แต่ไม่ชัดเจน และพุทธศาสนิกชนจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนชรา คนเจ็บไข้ ฯลฯ ที่ไม่สามารถไปวัดฟังธรรมได้ต้องสูญเสียโอกาสในการรับฟังธรรมะซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายของชีวิตแล้วก็เป็นได้ แม้กระนั้นการฟังธรรมะการยึดธรรมะจากหลักธรรมคำสอนเป็นที่พึ่งเพื่อถือปฏิบัติ และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ย่อมเป็นการยกระดับจิตใจ เป็นการเสริมสร้างพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นจากปรัชญาในการพัฒนาประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ที่ต่างมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจของคนในประเทศทั้งสิ้น ดังปรากฏตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ – ๑๑ ก็ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาให้ เป็นปรัชญานำการพัฒนาของประเทศ ปรัชญาดังกล่าว ให้ความสำคัญด้านจิตใจโดยเฉพาะเรื่องของความรู้และคุณธรรมซึ่งเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ได้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้ประชาชนในชาติมีศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม เป็นการแก้ปัญหาวิกฤตในเรื่องความเสื่อมถอยของจิตใจอย่างรุนแรง ปัญหายาเสพย์ติดที่บั่นทอนคุณภาพคนในชาติไทยปัจจุบัน รวมถึงปัญหาวิกฤตด้านคอรัปชั่นซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
          แนวคิดของ กสทช. ที่ลดเสาสัญญาณและกำลังส่งของสถานีเช่นนี้ ทำให้พื้นที่กระจายเสียงของสถานีวิทยุที่ดีเนื้อหามีคุณภาพอย่างนี้ต้องถดถอยลงไปอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันศาสนาหลักของชาติแล้ว ยังบั่นทอนทรัพยากรมนุษย์ที่ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศให้เสื่อมสิ้นลงไป ซึ่งมิอาจตีค่าความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจากแนวคิดของ กสทช. ในครั้งนี้ให้เป็นตัวเงินได้ เมื่อมองจากภายนอกประเทศเข้ามาในประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดประเทศเพื่อรับการพัฒนา การเปิดประเทศนอกจากจะส่งออกและนำสินค้าเข้ามาขายในประเทศแล้ว ยังเปิดรับศาสนา สังคม และวัฒนธรรมอื่นเข้ามาอีกด้วย การรับเข้ามาโดยไม่มีการกลั่นกรองทำให้อัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่ดีงามในปัจจุบันนั้นเสื่อมถอยสูญหายไปอย่างรวดเร็ว และยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยต้องเข้าไปรวมกลุ่มกับประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ทุกฝ่ายย่อมสมควรต้องตระหนักยิ่งขึ้นไปอีกว่า สถานการณ์ต่อจากนี้จะยิ่งเร่งเร้าให้ความเป็นไทยสูญเสียมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสถาบันศาสนาที่ประชาชนนับวันแต่จะเข้าถึงคำสอนที่ถูกต้องและแท้จริงได้น้อยลงไปทุกที และในที่สุดประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่นับถือพุทธศาสนาหรือไม่มีศาสนาและบางส่วนอาจหันไปนับถือลัทธิแหวกแนวต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตที่ประเทศอื่นประสบพบเห็นกันอยู่เนืองๆ  ส่วนสภาพสังคมและวัฒนธรรมจะถูกกลืนไปกับต่างชาติมากขึ้น ถ้าสื่อธรรมะเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง ก็จะบรรเทาปัญหาต่างๆ ข้างต้นที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง กสทช. จึงควรทบทวนหลักการในการลดกำลังส่งของสถานีที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม เช่นสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน แต่หาก กสทช. ยังดึงดันจะดำเนินการลดกำลังส่งตามแนวคิดของตัวโดยไม่ใส่ใจต่อเสียงคัดค้านอย่างจริงจังอันบริสุทธิ์ของประชาชนจำนวนมากในวันนี้ ก็เท่ากับว่า กสทช. เป็นตัวการสำคัญที่เอาเงินภาษีประชาชนเข้ามาบ่อนทำลายศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันดีของชาติให้ต้องพังพินาศบรรลัยไปด้วยน้ำมือของ กสทช. เสียเอง นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการด้านศาสนากล่าวถึงความผิดพลาดใหญ่หลวงของ กสทช. ที่ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งอันเป็นสาระสำคัญของมนุษย์ด้วยการยกถ้อยคำมาเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า   “เรื่องกิน นอน ขับถ่าย สืบพันธุ์ มนุษย์มีร่วมกับสัตว์ มีธรรมะเท่านั้นที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์” 
หากกล่าวถึงนโยบายเรื่องการปฏิรูปสื่อซึ่งเป็นเจตจำนงแท้จริงของประชาชนและรัฐธรรมนูญที่ กสทช. จักต้องรักษาปฏิญญาอย่างเคร่งครัดต่อประชาชนและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลต่อสายตาชาวโลกและรีบเร่งดำเนินการให้บรรลุเป็นผลสำเร็จโดยเร็ว การณ์กลับตรงกันข้าม กสทช. กลับกลายเป็นองค์กรอิสระที่จงใจกระทำการฝ่าฝืนและขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อเจตนารมณ์เดิมของมหาชนที่ต้องการเร่งให้เกิดปฏิรูปสื่อเพื่อให้สื่อปราศจากการครอบงำจากอำนาจรัฐอำนาจทุนและการครอบงำระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง ทั้งจะต้องเร่งส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามาดำเนินการด้านสื่อสารมวลชนสาธารณะมากขึ้นอีกด้วย แต่ร่างประกาศฉบับดังกล่าวและแนวคิดต่างๆ ที่ได้แสดงออกมาอย่างต่อเนื่องหลายวาระกลับปรากฏชัดเจนว่าเป็นการดำเนินการที่สวนทางอย่างสิ้นเชิง แม้ในกฎหมายพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔๙ ได้บัญญัติให้ กสทช. ต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการซึ่งควรเป็นลำดับแรกของการดำเนินการก็กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเสียเลย และโดยที่ “ชุมชน” ก็มีความหมายแบบกว้างไม่จำกัดด้วยพื้นที่ทำให้มาตรฐานทางเทคนิคต้องมีกำลังส่งสูงเสาอากาศสูงสอดคล้องกับนิยามที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ เสนอคำนิยามนี้ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย กสทช. ก็จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่ปล่อยให้คลื่นหลักใช้กำลังส่งที่เกินมาตรฐานเทคนิคและมีเสาอากาศที่สูงเกินกำหนดเนื่องจากตั้งอยู่บนตึกสูงในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ก็กำหนดกฎเกณฑ์แบบเลือกปฏิบัติและจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่รู้อยู่ว่าคลื่นหลักใดบ้างที่กระจายเสียงผิดกฎหมาย นอกจากนี้ กสทช. เหมือนมองข้ามหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๒ และ ๘๓ ที่ไม่กำกับดูแลคลื่นหลักให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ตามกฎหมายอื่น และตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะถึงกำหนดต้องคืนคลื่น นั่นหมายถึงกฎหมายให้อำนาจ กสทช. ที่จะวางหลักเกณฑ์แก่คลื่นหลักอย่างเสมอภาค มิใช่จงใจให้เกิดการเหลื่อมล้ำ และต้องเปิดเผยข้อมูลและผลตรวจสอบคลื่นหลักที่ให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา แก่สาธารณชนให้รับทราบด้วย มิใช่จงใจปิดกั้นข้อมูล และใบอนุญาตจะให้แก่คลื่นหลักไม่ได้หากยังไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๒  เป็นต้น การกระทำที่จงใจข้ามขั้นตอนที่จะเป็นคุณแก่ภาคประชาชนเป็นโทษแก่คลื่นหลัก หรือจงใจให้ความสำคัญในสิ่งไม่สำคัญแต่เนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์กลับจงใจมองข้าม หรือการกำหนดหลักเกณฑ์แบบไม่เสมอภาคทั้งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้ ทำให้เห็นความผิดปกติจนได้บทสรุปถึงที่ใม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่า กสทช. มิทำหน้าที่ของตนเพื่อการจัดสรรคลื่นและกำกับกิจการแต่กลับกลายเป็นผู้ครอบงำการประกอบกิจการเสียเองและยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายเก่าผูกขาดคลื่นพร้อมกับปิดกั้นรายใหม่ จนจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชนทั้งชาติ
ในวันนี้ ปรากฏตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า กสทช. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย มูลนิธิเสียงธรรมฯ พร้อมด้วยประชาชนจำนวนมากซึ่งได้แสดงเจตนาคัดค้านแนวคิด กสทช. จึงพร้อมใจกันส่งตัวแทนมายื่นหนังสือในวันนี้ เพื่อขอความอนุเคราะห์เป็นครั้งสุดท้ายจาก กสทช. ขอให้พิจารณาทบทวนในเรื่องนี้เสียใหม่ และขอเสนอแนะหาทางออกร่วมกับ กสทช. ดังต่อไปนี้
ในระหว่างการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง มูลนิธิเสียงธรรมฯ เห็นควรให้ กสทช. ต้องคำนึงถึงสารประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากรายการของสถานีเป็นตัวตั้ง มิใช่เอามาตรฐานทางเทคนิคเป็นตัวตั้ง โดยกำหนดให้สถานีวิทยุที่ไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจและมีเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ มุ่งพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ (ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก สามารถจัดสรรได้ไม่ยาก) ให้สถานีวิทยุที่มีคุณสมบัติครบถ้วนใช้หลักเกณฑ์ความจำเป็นในการถือครองคลื่นและใช้มาตรฐานเทคนิคเช่นเดียวกับคลื่นหลักหรือสถานีวิทยุรายเดิม (สถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ เอ็ม ที่ได้รับอนุญาต ในภาคผนวก จ) เพื่อหลักเกณฑ์ในการประกอบการจะได้มีความเสมอภาค มิให้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และเพื่อคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและท้องถิ่นไม่ให้ถูกกระทบกระเทือน
ทั้งนี้ด้วยเหตุที่วิทยุกระจายเสียงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคน โดยเฉพาะมิติทางจิตใจ แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าสถานีวิทยุทั้งรายเดิม(คลื่นหลัก ๓๑๔ สถานี) และรายใหม่(กว่า ๗,๐๐๐ สถานี) มุ่งเน้นแต่เพียงมิติทางวัตถุ ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อลืมตัว ฟังแล้วกระตุ้นให้เกิดราคะตัณหา เกิดความโลภ โกรธ หลง ได้ง่ายตลอดเวลาที่เปิดวิทยุรับฟัง   และสถานีวิทยุเหล่านี้มีรายได้จากการโฆษณามากโดยมีอัตราของรายได้ในการโฆษณาทางสถานีวิทยุสูงยิ่งซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากตัวเลขจากการวิจัยหรือวารสารการสื่อสารและการตลาดทั่วไปเป้าหมายของการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ก็เพื่อรายได้ของสถานีวิทยุและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับประโยชน์โดยแท้ โดยอ้างเพื่อประโยชน์ของประชาชนบังหน้า ในขณะที่สถานีวิทยุที่ทำประโยชน์สาธารณะเพื่อสังคม ปราศจากการครอบงำจากรัฐและผลประโยชน์ทางธุรกิจ มุ่งเน้นส่งเสริมยกระดับทางจิตใจของประชาชนที่แท้จริงกลับมีจำนวนจำกัดเพียงไม่กี่ร้อยสถานีและกลับถูกจำกัดบทบาทและหน้าที่ด้วยกฎระเบียบของ กสทช. ทั้งที่สถานีวิทยุเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผู้รักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพประชาชนโดยส่วนรวม
กสทช.ชุดปัจจุบัน ไม่ได้สนใจในการกำกับดูแลคุณภาพของรายการที่ออกอากาศเท่าที่ควร ทำให้มีการโฆษณาขายของที่มีสรรพคุณเกินจริง สลับกับเปิดเพลงที่ให้แต่ความบันเทิงแบบไม่มีสาระ บางสถานีใช้คลื่นเหมือนของทิ้งขว้างไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ประชาชนเลย ผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบต่อผู้ฟังและประชาชนโดยส่วนรวม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน การที่ กสทช.ไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญเนื้อหารายการซึ่งควรจะเป็นภาระหน้าที่เบื้องต้นอันดับแรกในการบริหารจัดการ กลับละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ มองคลื่นที่ทำประโยชน์ได้มากกับคลื่นทำประโยชน์ได้น้อยหรืออาจมีโทษมากกว่าประโยชน์โดยให้ความสำคัญเท่ากันหมด ย่อมเท่ากับเป็นการปล่อยปัญหาที่มีมาแต่เดิมที่มักมีโฆษณาเกินจริงในสถานีวิทยุธุรกิจ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนซึ่งมีอยู่จำนวนมากให้ดำรงอยู่ต่อไปและแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ปัญหาคลื่นเบียดคลื่นรบกวนยังตามมาอย่างไม่รู้จบ และนอกจากจะจงใจไม่ใช้อำนาจหน้าที่เข้าแก้ไขที่ต้นเหตุเพื่อคุ้มครองสุขภาพกายและจิตของประชาชนแล้ว ยังกลับใช้เป็นข้อกล่าวอ้างที่จะใช้มาตรการ “ดาบเดียวตัดหมด” คือ ไม่แยกแยะประเภทสถานีวิทยุตามคุณภาพของรายการที่ออกอากาศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๗ วรรคสาม ด้วยการจะบังคับให้สถานีวิทยุรายใหม่ทุกประเภท ไม่ว่าจะมีโฆษณาหากำไรหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีคุณภาพของรายการเป็นอย่างไร เป็นคุณหรือโทษมากน้อยก็ตาม พยายามผลักดันกฎหมายบีบบังคับให้ลดกำลังส่งลงเท่ากัน และลดเสาส่งออกอากาศลงมาเท่ากันด้วย ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสถานีวิทยุที่มุ่งทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยตั้งสถานีเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวในทางธุรกิจทั้งเปิดเผยและแอบแฝง ทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใดเลย
ดังนั้น เพื่อให้การใช้คลื่นวิทยุกระจายเสียงเกิดความสมดุลระหว่างมิติทางวัตถุกับจิตใจของคนในชาติสอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นอย่างแท้จริงและทั่วถึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะคำนึงถึงคุณภาพของสื่อยิ่งกว่าการยกเอาข้ออ้างทางเทคนิคที่เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดมาใช้เป็นข้อจำกัดสาระประโยชน์ที่ประชาชนจะพึงได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการที่ปราศจากการครอบงำจากอำนาจรัฐและธุรกิจให้ได้ใช้ประโยชน์ด้านสื่อสารมวลชนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง
มูลนิธิเสียงธรรมฯ และประชาชนอย่างน้อยจำนวน              151,767            รายชื่อ (รวบรวมรายชื่อเพียง ๙ วัน และจะรวบรวมรายชื่อคัดค้านอีกต่อไปจนกว่า กสทช. จะยุติการลิดรอน) มีมติตรงกันว่า เห็นควรให้ กสทช. ทบทวนมาตรฐานทางเทคนิคของร่างประกาศกสทช. ฉบับดังกล่าวเสียใหม่ และเสนอให้ กสทช. กำหนดมาตรฐานเทคนิคของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ให้สามารถใช้มาตรฐานเทคนิคที่สูงและใช้หลักเกณฑ์ความจำเป็นในการถือครองคลื่นอย่างเสมอภาคและมาตรฐานเดียวกันกับใช้บังคับกับสถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ เอ็ม ที่ได้รับอนุญาต ในภาคผนวก จ (คลื่นหลัก) ของร่างประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ดังนี้
๑.     สถานีวิทยุที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคเดียวกับคลื่นหลักได้ ต้องมีเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า ๙๐% นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ อาทิ ส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ ส่งเสริมสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ส่งเสริมข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน  การเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
     สำหรับอีก ๑๐% กำหนดให้เป็นรายการบันเทิงแต่ต้องเป็นสาระประโยชน์ คือ บันเทิงที่ให้คติแง่คิดที่ดีงามเพื่อการใช้ชีวิตที่ถูกต้องสังคมเป็นสุข เช่น เป็นบทเพลงส่งเสริมให้มีความกตัญญูต่อบุพการี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ใช่บันเทิงที่เป็นโทษหรือเป็นเหตุกระตุ้นราคะตัณหา โลภ โกรธ หลง หรือส่งเสริมให้ยอมรับสิ่งที่ผิดศีลธรรมจรรยา ผิดขนบประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในสังคมไทย เช่น บทเพลงที่ยอมรับการผิดลูกผิดเมีย จนเกิดปัญหาการทำแท้งอย่างเกลื่อนกลาดในปัจจุบัน บทเพลงที่ทำให้ขาดความเคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นต้น
๒.    สถานีวิทยุที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคเดียวกับคลื่นหลักได้ ต้องไม่มีการโฆษณาเพื่อแสวงหากำไรในทางธุรกิจแม้วินาทีเดียวตั้งแต่เริ่มประกอบการ
๓.    สถานีวิทยุที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคเดียวกับคลื่นหลักได้ ต้องมีผลงานในการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
๔.    สถานีวิทยุที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคเดียวกับคลื่นหลักได้ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีการกระจายเสียงและการดำเนินงานตามข้อ ๑-๓ อย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย ๕ ปี
๕.    สถานีวิทยุที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคเดียวกับคลื่นหลักได้ สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นประเภทบริการสาธารณะหรือบริการชุมชนก็ได้ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกัน และชุมชนตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็มีความหมายครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันโดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่โดยสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ ๑-๔
๖.     สำหรับวิทยุที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตบริการธุรกิจซึ่งปัจจุบันมีมีจำนวนมากกว่า ๗,๐๐๐ สถานี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า ๙๐% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ  เนื้อหารายการส่วนใหญ่จะเน้นความบันเทิง ในเบื้องต้น กสทช. จำเป็นต้องควบคุมจำนวนลงแบบอะลุ้มอล่วยโดยคำนึงประโยชน์ของประชาชนผู้ฟังที่ควรจะได้รับเนื้อหารายการที่มีสาระประโยชน์เป็นเกณฑ์  เช่นว่าหากสถานีนั้นดำเนินการอย่างน้อย ๕ ปี โดยรายการมีสาระประโยชน์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มประกอบการไม่น้อยกว่า ๖๐% บันเทิง ๓๐% โฆษณา ๑๐% กสทช.ก็ควรสนับสนุนให้ใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเทคนิคที่สูงเช่นเดียวกับคลื่นหลักได้ แต่หากดำเนินการมาน้อยกว่า ๕ ปี หรือไม่น้อยกว่าแต่มีสาระประโยชน์น้อยกว่า ๖๐% กสทช.ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเข้ามาลงทุนร่วมกันในกิจการเดียวกัน โดยหากร่วมกัน ๒ ราย กสทช.จะพิจารณาลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้และได้เวลาโฆษณามากกว่าปกติ และยังได้รับมาตรฐานเทคนิคในระดับกลาง และหากร่วมกิจการ ๓ หรือ ๔ หรือ ๕ รายก็ให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมและได้เวลาโฆษณามากขึ้นตามลำดับ และได้รับมาตรฐานเทคนิคที่สูงขึ้นเทียบเท่าคลื่นหลัก  การใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้ก็เพื่อมิให้เป็นการทำร้ายวิทยุธุรกิจที่กำลังประกอบการอยู่ให้ต้องล้มหายตายจากไป แต่เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงและเพิ่มสาระประโยชน์ในแต่ละรายการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนมากยิ่งขึ้น
     เหตุผลที่ใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้ก็เพื่อมิให้วิทยุธุรกิจมีสัดส่วนมากเกินความจำเป็นจนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในภาพรวมของประเทศ อีกประการหนึ่ง กสทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นั่นคือ ในทุกๆ พื้นที่ต้องกำหนดสัดส่วนภาคประชาชนไม่น้อยกว่า ๒๐% จึงจำเป็นต้องลดภาคธุรกิจลง และหาก กสทช. ยังปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมสัดส่วนผู้ประกอบการให้เหมาะสมและไม่คำนึงถึงเนื้อหารายการเป็นสำคัญอีก ก็เท่ากับจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่สวนทางเจตนารมณ์แห่งการปฏิรูป และมีความพยายามที่จะดำเนินการย้อนยุคกลับเข้าสู่ระบบเดิมที่สื่อส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐและอำนาจทุน มีเจตนาทุจริตในหน้าที่การงานที่เอื้อประโยชน์แก่ทุนมากกว่าธรรมและแก่ประชาชน ซึ่งย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ
 
หาก กสทช. ดำรงหลักเกณฑ์ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนในการได้บริโภคสื่อที่มีสาระประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนในชาติเกิดการพัฒนาเป็นทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังของชาติได้อย่างยั่งยืน ย่อมสามารถดำเนินการได้ตามข้อ ๑-๕ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ แต่หาก กสทช. ยังเมินเฉยต่อข้อเสนอข้างต้นอีกโดยไม่สนใจต่อเสียงคัดค้านของประชาชนผู้รักชาติศาสน์กษัตริย์รักความเป็นธรรมจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนและจะเป็นล้านในที่สุดแล้ว ย่อมเท่ากับว่า กสทช. ชุดปัจจุบันนี้ มีฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ อย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศ ท่านผู้เป็นผู้ใหญ่ในแวดวงความมั่นคงของชาติซึ่งผ่านประสบการณ์บริหารบ้านเมืองถึงกับกล่าวถึงความรุนแรงของการกระทำของ กสทช. ในครั้งนี้ว่า จะเป็นเหตุให้เกิดกลียุคในชาติไทยได้ในที่สุดหากไม่ยุติและรีบทบทวนแนวคิดใหม่  ความมีอคติเหล่านี้ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้อง เอื้อและฉ้อฉลเอาทรัพยากรสื่อสารซึ่งเป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะไปสนองแก่พวกพ้องของตัวรุนแรงจนถึงขั้นสามารถออกกฎเกณฑ์ที่กระทบกระเทือนอย่างหนักจนกลายเป็นหน่วยงานที่มีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลเป็นการบ่อนทำลายสื่อของประชาชนที่ดีที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เสียเอง
การที่ กสทช. ดื้อรั้นต่อกระแสคัดค้านของประชาชนโดยบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำผิดเพี้ยนไปจากหน้าที่ที่ประชาชนโดยส่วนรวมมอบหมายให้ แต่เป็นการทำลายเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปีให้พังพินาศสูญสิ้นไป และแสดงถึงความจงใจเข้าปกป้องคลื่นของรัฐที่ผูกขาดเป็นการถาวรอยู่กับอำนาจรัฐและกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอยู่จำนวนน้อยนิดแต่มีอำนาจครอบงำการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกว่าประชาชนส่วนใหญ่ด้วยการปล่อยให้ใช้มาตรฐานเทคนิคที่มีกำลังส่งและเสาที่สูงกว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแบบจงใจเลือกปฏิบัติ ซึ่งนอกจากจะห้ามมิให้คลื่นใดมีกำลังส่งสูงเทียบเท่าได้แล้วยังห้ามมิให้คลื่นใดมารบกวนคลื่นผูกขาดเหล่านี้โดยเด็ดขาดอีกด้วยถึงแม้ว่าคลื่นนั้นๆ จะกระจายเสียงที่เป็นประโยชน์สาธารณะเพื่อพิทักษ์ปกป้องสถาบันหลักของชาติเป็นที่ประจักษ์แล้วก็ตามที หาก กสทช. ดำรงตนเช่นว่านี้ก็เท่ากับว่า กสทช. ชุดนี้กระทำการบิดผันเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของชาติไปตอบสนองเฉพาะคลื่นหลัก ๓๑๔ สถานี ที่ได้ครอบครองผลประโยชน์มหาศาลทางธุรกิจเฉพาะกลุ่มมายาวนานจนเกินสมควรแล้ว แต่กลับไม่ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการรักษาความมั่นคงของชาติและทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชนอย่างจริงจังให้คุ้มกับผลประโยชน์ที่ตนได้รับอย่างต่อเนื่องยาวนาน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนและปรับปรุงแก้ไข (ร่าง)ประกาศกสทช.ฉบับดังกล่าวด้วย จักอนุโมทนาขอบคุณยิ่ง
 
 
                                                                          ขอเจริญพรมาพร้อมหนังสือนี้
 
      พระครูอรรถกิจนันทคุณ
 
กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน
ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน
 
*****************************
 
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน เฉพาะพระพักตร์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕
 "ปกป้องวิทยุเสียงธรรมด้วยชีวิต"
ณ สำนักงาน กสทช. เมื่อวันพุธที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
 
 
ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตน
เฉพาะพระพักตร์พระบรมรูป  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระรูป พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน  พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย 
และเบื้องหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลาย   อันประชุมอยู่ ณ ที่นี้ว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลาย เดินทางมาจากสารทิศ ประชุมรวมกันในที่นี้
ขอถวายสักการะ และขอพึ่งพระบารมีจากสองพระองค์
ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ และพระราชโอรส ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ
ในการพัฒนาการสื่อสาร รวมถึงวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย
ด้วยมุ่งหวังประโยชน์สุข แห่งพสกนิกรในสยามประเทศ
ในปัจจุบันสมัย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้
กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง
เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในด้านต่าง ๆ  
กฎหมายยังกำหนด ให้มีวิทยุ ๓ ประเภทเพื่อเอื้อต่อการจัดการ 
ให้สามารถปฏิรูปสื่อที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ได้แก่
๑ วิทยุที่มุ่งโฆษณาหากำไร หรือวิทยุบริการธุรกิจ   
ส่วน ๒ และ ๓ เป็นวิทยุที่ไม่แสวงหากำไร ได้แก่
วิทยุบริการสาธารณะ  และ วิทยุบริการชุมชน
แต่ กสทช.กลับไม่ใช้ความเป็นธรรม   ดึงดันจะลดเสาลดกำลังส่ง   
แก่บรรดาวิทยุรายใหม่ แต่เอื้อประโยชน์แบบไร้ขอบเขต แก่วิทยุรายเก่า  
ให้ผูกขาดอำนาจรัฐไว้กับกลุ่มทุน เห็นแก่คนบางกลุ่มยิ่งกว่าชาติกว่าประชาชน
จนส่งผลกระทบร้ายแรง   ต่อวิทยุทั้งหลายที่ดี ที่ไม่มีโฆษณา
ได้กระจายเสียงสาระความรู้   เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แทนที่จะให้การส่งเสริม   หรืออย่างน้อยดำรงคงไว้    
กสทช. กลับกลายเป็นมหาภัย    ใช้อำนาจบีบบังคับ
ให้ต้องลดเสาลดกำลังส่ง    ประหนึ่งจ้องทำร้ายวิทยุดี      ให้ต้องพังเพพินาศไป
กฎหมายมหาภัยฉบับนี้      ยังเผาไหม้ลามปาม  ลุกลามมาถึง     
ไม่เว้นวิทยุเสียงธรรมฯ ที่ประชาชนน้อมนำ    สร้างถวายแด่องค์หลวงตา    
พระอรหันต์ผู้ทรงธรรม   มหาคุณอเนกอนันต์
ต่อศาสนาและชาติบ้านเมือง     มุ่งหน้ากระจายเสียงธรรม      พิทักษ์สามสถาบัน
กสทช. กลับเงื้อดาบฟาดฟัน     ใช้ “ดาบเดียวตัด” ไม่เว้นพระธรรม    เหยียบย่ำพระไตรสรณัง
กสทช. กลายเป็นพญามาร     เป็นเปรตเป็นผีจริงดัง      แสดงในพระธรรมเทศนาหลวงตา
จักขออาราธนาน้อมนำมา     แสดงแก่ทวยเทพเทวดา       พร้อมจิตตวิญญาณ์    ที่สิงสถิตในโลกา
ทั่วผืนฟ้าพิภพจักรวาล      ให้ทราบโดยทั่วกัน  ว่า
 กสทช. กำลังสร้างกรรม   ประหนึ่งขับรถเข้าชนปฐพี
วิบากกรรมนี้ไม่พ้นชีวี      แหลกเหลวไร้ปราณี    
เพราะก่อกรรมกับพระเณรประชาชี ประทุษร้ายคอยกีดกันเสียงธรรม
 
ลำดับต่อไป พวกข้าพเจ้าทั้งหลาย 
จักได้น้อมนำพระธรรมเทศนา     ขององค์หลวงตาพระมหาบัว
องค์ท่านได้แสดงธรรมไว้     เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘     มีใจความว่า  
“เรื่องอรรถเรื่องธรรมที่แสดงออกมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างมหาศาลนี้    
มีมาตรานั้นมาตรานี้ออกมา  ความสูงความต่ำวิทยุอย่างนั้นอย่างนี้ มีบังคับมาเช่นนี้มาจากไหน  
ถ้าไม่มาจากสัตว์นรกจะมาจากไหน  ขอให้พูดเต็มปากเถอะ
ถ้าสัตว์สวรรค์สัตว์นิพพาน  จะไม่พูดอย่างนี้    มีแต่อนุโมทนาสาธุการ
ถ้าสัตว์นรกแล้ว กีดกันทุกแบบทุกฉบับ
ที่จะเป็นอรรถเป็นธรรม เพื่อหัวใจโลก ได้รับความสงบร่มเย็นนี้
ต้องกีดต้องกัน ด้วยมาตรฐานของเปรตของผี
 
ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ไม่ปรารถนาจะให้ กสทช.ท่านใด ต้องเสวยภพในทางต่ำ
จึงรวมกันมา กระตุ้นเตือนจิตสำนึกของท่าน
และแสดงตน ร่วมกันคัดค้าน ร่างประกาศ กสทช. มหาภัย  
แต่ถ้าหาก กสทช. ยังคงดื้อด้านหาญธรรม ยังคงหลงมัวเมา ใช้อำนาจบาตรใหญ่อีกต่อไป
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอปฏิญาณตนว่า
ข้าพเจ้า จะสามัคคีร่วมกัน ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา
เพื่อต้านทานการใช้อำนาจในทางมิชอบ ของ กสทช. อย่างถึงที่สุด
เพื่อป้องกันความวิบัติ อันจะเกิดขึ้น จากการกระทำของ กสทช.
คำปฏิญาณ ด้วยจิตอันเป็นกุศลของข้าพเจ้า
ขอให้ดังก้องไกล ไปทั่วไตรโลกธาตุ
ขอทวยเทพเทวาทุกชั้น โปรดอนุโมทนาสาธุการด้วยเถิด
ขอให้การปกปักรักษา วิทยุเสียงธรรม ได้รับชัยชำนะ
ด้วยอำนาจแห่งธรรมะ ด้วยอำนาจแห่งบุญบารมี ของบุรพกษัตริย์ไทย
ด้วยเดชะแห่งบุญนี้
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมถวาย เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
ขอให้ข้าพเจ้าและญาติมิตรทั้งหลาย รวมถึงผู้อนุโมทนาบุญในครั้งนี้
ได้ดวงตาเห็นธรรม ประสบความสุขสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรม
ตราบจนถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเทอญ