มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ สรุปสาระการประชุม Focus Group วิทยุชุมชนเชิงประเด็น ที่กทช.(12พ.ย.2553)

สรุปสาระการประชุม Focus Group วิทยุชุมชนเชิงประเด็น ที่กทช.(12พ.ย.2553)

อีเมล พิมพ์ PDF

 

ที่พิเศษ ๓๗/๒๕๕๓                                                                            มูลนิธิเสียงธรรมฯ จ.อุดรธานี
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
เรื่อง          สรุปสาระการประชุม Focus Group “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น”
เจริญพร      ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
                / ประธานคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
                / ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
สิ่งที่ส่งมาด้วย   สรุปสาระการประชุม Focus Group “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” โดยคณะนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา
ตามที่สำนักงาน กทช. ให้ความอนุเคราะห์จัดการประชุม Focus Group “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมชั้น ๑ สำนักงาน กทช. โดยท่านกทช.รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม เป็นประธานการประชุม ในการประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากจากหลายภาคส่วนประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ประกอบการ องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กทช.
มูลนิธิฯ ขออนุโมทนาขอบคุณในความจริงใจของสำนักงาน กทช. ที่เห็นคุณค่าของ “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” จนสามารถดำเนินการประชุมในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีและประสบผลสำเร็จ เนื่องจากที่ประชุมให้การยอมรับ “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” อย่างเป็นเอกฉันท์ และพร้อมให้ความร่วมมือตามข้อเสนอของท่านประธานในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อร่วมกันกำหนดนิยาม วางระเบียบ และร่างประกาศให้ “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” มีสถานภาพทางกฎหมายที่สมบูรณ์และเป็นของแท้ มิให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการวิทยุชุมชนที่ยึดมั่นในหลักแห่งความมีส่วนร่วมของประชาชน “ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” มิให้ถูกครอบงำจากภาครัฐและธุรกิจ มิให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มิให้เป็นของคนหนึ่งคนใด การดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันโดยไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตทางพื้นที่ เนื้อหาสาระต้องเป็นประโยชน์สาธารณะต่อประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง
ในการประชุมครั้งนี้มูลนิธิฯ ได้บันทึกทั้งภาพและเสียง และถอดเทปคำสนทนาไว้ตลอดการประชุม เพื่อจะได้เผยแพร่เป็นความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่สนใจ เนื่องจากผลการประชุมครั้งนี้เป็นการประจักษ์ชัดเจนว่า สังคมไทยยอมรับและเห็นคุณค่าของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น ภาพเหตุการณ์ในวันนี้จึงสมควรจะถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์พัฒนาการของวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนของไทยให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบไป พร้อมนี้คณะนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาได้หารือกันและสรุปสาระการประชุมตามสิ่งที่ส่งมาด้วยแล้วนี้
จึงเจริญพรมาเพื่อขอความอนุเคราะห์จากสำนักงาน กทช. เป็นผู้นำในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปจนประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ร่วมกัน ขออนุโมทนาขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้
ขอเจริญพรมาพร้อมนี้
 
(พระครูอรรถกิจนันทคุณ)
                   ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ
 
สรุปสาระการประชุมกลุ่มย่อย Focus Group วิทยุชุมชนเชิงประเด็น
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ หอประชุมชั้น ๑ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สรุปสาระการประชุมโดย คณะนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา
 
สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาการพิจารณา ให้ใบอนุญาต(ชั่วคราว)ประกอบกิจการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นของสถานีวิทยุที่เป็นระบบเครือข่าย ดังนั้นคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ภายใต้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงได้จัดประชุมสัมมนากลุ่มย่อย Focus Group วิทยุชุมชนเชิงประเด็นขึ้น เพื่อหาข้อเท็จจริงในสังคมปัจจุบัน โดยคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนฯ ได้เชิญคณะนักวิชาการที่ทำการศึกษาถึงความหมายและรูปแบบของวิทยุชุมชนในประเทศและต่างประเทศมานำเสนอในที่ประชุมโดยคณะนักวิชาการดังกล่าวได้สรุปถึงความหมายของวิทยุชุมชนว่าต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
๑. มีการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมายว่าเป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ดำเนินการโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว
๒. มีการดำเนินการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับภาครัฐ และภาคธุรกิจ
๓. มีการออกแบบที่จะให้บริการชุมชนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น
๔. มีการจัดการโครงสร้างของสถานีวิทยุที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นตัวแทนของชุมชนที่ให้ บริการ โดยการเป็นเจ้าของและการดำเนินการต้องแสดงถึงการเป็นตัวแทนของชุมชนซึ่งหมายถึงบุคคลในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดผังรายการและการจัดการ และรายการวิทยุต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่ให้บริการ
 
ดังนั้นจึงสามารถจำแนกวิทยุชุมชนออกเป็น ๒ ประเภทคือ
๑.     วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based Community Radio หรือGeographical Community Radio) หมายถึง สถานีวิทยุของประชาชนในพื่นที่ ที่ให้บริการกระจายเสียงโดยประชาชนในพื้นที่ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ โดยการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างอิสระ และไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก
 
๒. วิทยุชุมชนเชิงประเด็น(Issue-Based Community Radio หรือ Interest-Based Community Radio) หมายถึง สถานีวิทยุที่ให้บริการกระจายเสียง เพื่อตอบสนองความสนใจร่วมกันของประชาชนโดยไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของพื้นที่ หรือขอบเขตทางภูมิศาสตร์ แต่จะถูกจำกัดด้วยประเด็นของเนื้อหาสาระของรายการวิทยุที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการร่วมของประชาชนในชุมชนลักษณะเฉพาะนี้ สำหรับประเด็นความสนใจร่วมของประชาชนอาจหมายถึง ประเด็นด้านศาสนา การต่อต้านยาเสพติด สิ่งแวดล้อม เด็ก สตรี หรือ เพื่อคนพิการ เป็นต้น และเพื่อให้การบริการสนองต่อความต้องการของประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันซึ่งอยู่กระจัดกระจายห่างไกลออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการสถานีวิทยุชุมชนในลักษณะระบบเครือข่าย โดยสถานีแม่ข่ายถ่ายทอดรายการสู่สถานีลูกข่าย บางแห่งมีความจำเป็นต้องใช้กำลังส่งสูง อย่างไรก็ตามการดำเนินการของวิทยุชุมชนเชิงประเด็นก็ต้องมีการดำเนินการอย่างอิสระ ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรโดยมีประเด็นการนำเสนอที่ชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก
 
เมื่อคณะนักวิชาการได้นำเสนอถึงความหมายและรูปแบบการจัดการวิทยุชุมชนในสังคมโลกปัจจุบันเสร็จแล้ว ท่านประธานฯ ในที่ประชุมจึงได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่มาจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้ประกอบการกิจการวิทยุชุมชน สมาชิกจากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งประเทศไทย สมาชิกจากมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ตลอดจนกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กทช. ได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านโดยประเด็นของการอภิปรายประกอบไปด้วย
๑. ความหมายของวิทยุชุมชน
      สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความหมายของวิทยุชุมชน ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขว้างและรอบด้านเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งในความหมายของวิทยุชุมชนตามที่นักวิชาการนำเสนอ และบทบัญญัติต่าง ๆ ของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าวิทยุชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะคือ วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่ และวิทยุชุมชนเชิงประเด็น โดยมีหลักการพื้นฐานตรงกันว่า เป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐและธุรกิจ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
๒. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยปัจจุบัน
     สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ประชุมได้มีการนำวิทยุชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม (ของสถานีวิทยุชุมชนที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เพื่อเด็กและคนพิการ รวมทั้งเพื่อการศาสนา (ของเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน) เป็นกรณีศึกษาโดยละเอียดเพื่อการอภิปราย  ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขว้างและรอบด้านแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าในสังคมไทยปัจจุบันได้มีวิทยุชุมชนเชิงประเด็นเกิดขึ้นจริง บางแห่งเป็นสถานีที่มีความสนใจร่วมกันในพื้นที่แคบ บางแห่งเป็นสถานีที่มีความสนใจร่วมกันในพื้นที่กว้าง และบางแห่งมีความสนใจร่วมกันกว้างขวางกระจายไปหลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศจึงจัดทำรายการร่วมกันในสถานีแม่ข่ายและถ่ายทอดสัญญาณไปยังสถานีลูกข่าย
๓. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายในสังคมไทยปัจจุบัน
     สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายอย่างรอบด้านเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินการที่ส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็น มีความสามารถให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชนลักษณะเฉพาะนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ารูปแบบการดำเนินการที่จะส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นบรรลุผลในการจัดตั้งวิทยุชุมชนประเภทนี้คือ การคัดเลือกตัวแทนในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่นเพื่อร่วมกันบริหารจัดการด้วยระบบเครือข่ายที่มีสถานีวิทยุแม่ข่ายส่งสัญญาณไปยังสถานีวิทยุลูกข่าย บางแห่งอาจใช้กำลังส่งสูงเพื่อให้การกระจายเสียงครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจร่วมกัน
๔. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายและวิทยุสาธารณะ
      สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายและวิทยุสาธารณะที่ประชุมได้มีการนำวิทยุชุมชนเพื่อการศาสนาของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน เป็นกรณีศึกษาเพื่อการอภิปรายโดยการตั้งคำถามในการอภิปรายว่า ทำไมเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน (หรือวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายอื่น ๆ) ไม่ขอใบอนุญาตเป็นวิทยุประเภทบริการสาธารณะภาครัฐ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงคุณลักษณะของวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชนพบว่า เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนมีลักษณะดังต่อไปนี้
๔.๑   สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน เป็นวิทยุของชุมชนที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่มีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของสังคม
๔.๒ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานของภาครัฐและภาคธุรกิจ
๔.๓ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่มีการออกแบบที่จะให้บริการประชาชนในชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน ในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในสายพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีหลักเกณฑ์มีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีงาม รู้วิธีปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และหลุดพ้นไปจากวัฏฏสงสาร
๔.๔ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่มีการก่อตั้งขึ้นโดยประชาชนในชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันร่วมกันบริจาค และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนมิใช่ผู้ลงทุน สำหรับผังรายการวิทยุก็เกิดจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่าย แล้วนำเสนอความต้องการเหล่านั้นมาที่สถานีวิทยุแม่ข่ายเพื่อผลิตรายการวิทยุที่ตอบสองความต้องการของประชาชนในชุมชนนี้อย่างแท้จริง ซึ่งมีลักษณะที่ตรงกับหลักการ ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขว้างและรอบด้าน ถึงลักษณะของเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนแล้วพบว่า วิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นวิทยุชุมชนโดยสมบูรณ์ตรงตามนิยามที่นักวิชาการให้ไว้ดังแสดงในข้างต้น โดยเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบธรรม เป็นคนดีของสังคม ทำตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม แต่ไม่ใช่วิทยุสาธารณะภาครัฐ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการภายใต้สังกัดของรัฐ และเนื้อหารายการเป็นไปในลักษณะเฉพาะด้านศาสนาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตามสนใจร่วมกันของกลุ่มประชาชนที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มิใช่เนื้อหาพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปที่พุทธศาสนิกชนสมควรต้องรับฟัง เช่น ประวัติพระพุทธเจ้า พระสาวก พระสูตร ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในชาติไทย เป็นต้น
๕. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)
     สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ได้รับการชี้แจงจากทางกทช.ว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้รองรับเฉพาะการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงพื้นที่เท่านั้น อาจไม่รองรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็นชั่วคราว อย่างไรก็ตามทางกทช.ได้ให้ความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการตรากฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้รองรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็น นั้นสามารถทำได้ เนื่องจากทุกท่านยอมรับว่าวิทยุชุมชนเชิงประเด็นนั้นมีอยู่จริงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
 
จากผลสรุปความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการที่ดีและถูกต้อง อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันวิทยุภาครัฐและธุรกิจเข้ามาครอบงำ และตักตวงผลประโยชน์จากวิทยุชุมชนเชิงประเด็น ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมดำเนินการต่อไปนี้
๑.     จัดการประชุมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดคุณลักษณะและวางระเบียบของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น
๒.    ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมออกประกาศรองรับการประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็นชั่วคราว
 
ท่านกทช.รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานการประชุมได้กล่าวสรุปสาระสำคัญก่อนปิดการประชุมฯ ดังนี้
“...ในการประชุมวันนี้ผมหายไปพักหนึ่ง แต่ก็จับความได้ จับความรู้สึกได้ อยากจะบอกว่าตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่าพวกเราทั้งหมดในห้องนี้เรากำลังมีสิ่งที่ดีมาก ๆ อยู่ในมือ คือผมอยากให้ทำต่อ และทำไปจนสำเร็จ ถ้าถามว่าจะเสร็จเมื่อไรบางครั้งเราไม่รู้ เพราะสิ่งที่เราทำนี่ก็เหมือนกับของที่เราพยายามจะผลิตเองขึ้นมา เราเอาของต่างประเทศก็ได้แต่มันจะไม่เป็นเหมือนกับของที่เราผลิตเองขี้นมาให้เหมาะสมกับสังคมเรา
ในเรื่องการประชุมวันนี้ผมก็กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์เรื่องที่แนะนำว่าโปรแกรมฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้(เรื่องชุมชนเชิงประเด็น) ขยายต่อไป ผมก็รับจะทำ ซึ่งตรงกับท่านอาจารย์สุรัตน์ด้วย เราจะทำ การประชุมอย่างนี้ ก็อยากจะฝากพวกเราทุกท่าน ผมเข้าใจความเสียสละของพวกเรา อยากจะบอกว่าอย่าอืด เราจะทำอีก เรื่องที่กระทบกับคนจำนวนเยอะ และเรื่องใหญ่ ๆ แบบนี้ มันไม่สามารถหักหาญและทำให้เสร็จไปได้ในเร็ววันได้ เราจะไปด้วยกัน เราจะบรรลุด้วยกัน ผมได้สิ่งดี ๆ จากทางสมาพันธ์ อยากจะขอให้ทางสมาพันธ์ อุทิศตลอด มาช่วยกันทำวิทยุเชิงประเด็นให้เสร็จ อยากให้พวกเราทุกคน อยากจะได้ อยากกราบเรียนทางมูลนิธิ ท่านพระอาจารย์ทั้งหลาย ว่าอย่าทอดทิ้งตรงนี้ มาทำ มาทำให้เสร็จ ผมมองเห็นสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากในอนาคต 
แต่ก่อนอื่นสิ่งที่เราทำตรงนี้ ผมมองว่ามันเป็นช่วงเติมช่องว่างก่อน ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ และเมื่อวันที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่มาถึง ผมคิดว่าพี่น้องทุกคนนี่ จะได้อย่างที่ปรารถนา ไม่หมดก็เกือบหมดหล่ะครับ วันนี้พระราชบัญญัติ กสทช. ใกล้จะผ่านเต็มทีแล้ว ผ่านสภาร่างละ กำลังจะผ่านวุฒิสภา ถ้าผ่านสภา สภาพผมกลายเป็นรักษาการ ผมเป็นรักษาการกสทช. ผมก็จะสามารถทำงานได้อยู่ ไม่ใช่ทำไม่ได้ซะทีเดียว ก็ ไม่ใช่ว่าพอกฎหมายผ่านไปแล้วหมดกำลังใจ จะไม่ทำอะไรละ รอวันจากไป ไม่ใช่ครับ ก็จะทำจนถึงวันสุดท้ายที่รับหน้าที่ เราก็จะช่วยกัน 
สิ่งดี ๆ ที่เห็นวันนี้ ที่นี่หน่ะครับ ผมสรุปได้อันหนึ่งคือวิทยุเชิงประเด็นไม่มีใครปฏิเสธ พวกเรายอมรับหมดเลย แม้กระทั่งทางคุณนันทพรเองก็บอกว่า เตรียมการอยู่ด้วย ตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งร่วมที่ดีมาก แต่สิ่งที่เราขาด ก็คือว่าวิทยุชุมชนเชิงประเด็นนี่ นิยามจริง ๆ มันเป็นยังไง แต่ตรงนี้ผมว่าไม่ใช่ว่าเราไปค้นคว้าเมืองนอกเรารู้เค้า แต่เรามานิยามกันเองว่าของเราควรจะนิยามยังไง ตรงนี้คือผมเชิญ อย่างเข้มแข็งเลย ทั้งทางสมาพันธ์และมูลนิธิ เราช่วยกัน เพราะตรงนี้เราเขียนมา เพราะทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจ ผมมั่นใจครับว่ามีความเข้าใจ แต่บางทีมุมอาจต่างกันไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้ววิทยุชุมชนเชิงประเด็น ผมฟังแล้วไม่มีความแตกต่างเลยในความรู้สึกผม เพียงแต่ว่าเราจะนิยามอย่างไรที่ไม่ให้ถูกฉวยโอกาส ไม่ให้คนอื่นมาทำให้เพี้ยน หรืออะไรทั้งนั้น
ตรงนี้พวกเราทุกคนช่วยกัน การนิยามตรงนี้ มันก็หมายถึงในรายละเอียดอีก ว่าการวางระเบียบ การทำประกาศต่าง ๆ ตรงนี้ท่านพระอาจารย์นพดลพูดไว้ ทางสมาพันธ์พูดไว้ ผมคิดว่าอันเดียวกัน คือว่าเราร่างประกาศยังไง ให้เราสามารถทำได้โดยบรรลุวัตถุประสงค์ ทางคุณนันทพรเองมีความห่วงใยว่าคลื่นมันจะไม่พอ เป็นเน็ตเวิร์คแล้วไปเบียดบังอะไรหรือเปล่า ไอ้ตรงนั้นเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ ลองนึกสิว่าพวกเราตกลงเรื่องวิทยุชุมชนได้ ถ้าเราสามารถทำได้ โดยคนที่ทำวิทยุชุมชนเชิงประเด็นแท้ ๆ แท้ ๆ นะครับ สามารถเข้ามาทำได้ แล้วโดยที่คลื่นก็ยังเพียงพอ และโดยเกิดความถี่ที่เราเอามาใช้ไม่เบียดกันไม่แทรกกัน ถ้าเราทำได้ ปัญหาจบถูกไหมครับ เพราะเราตกลงร่วมกันอยู่แล้ว วิทยุชุมชนเชิงประเด็นเป็นได้ ถ้าจะทำก็น่าจะทำได้ นอกจากเพียงแต่ว่าเรามีปัญหา แต่ถ้าขจัดปัญหานั้นได้ ก็ฉลุยละเราก็ทำได้หมดละ ตรงนี้ผมว่าน่าจะมาคิดร่วมกัน
ในส่วนของทางด้านธุรกิจแปลกปลอมที่เข้ามา อันนี้ความเข้าใจผมเองละ เป็นส่วนตัวโดยแท้ อาจจะผิดก็ได้ แต่ผมวิเคราะห์จากพื้นเพ ทางด้านเศรษฐศาสตร์กับทางด้านบริหารธุรกิจที่ผมพอมีอยู่บ้าง ผมเชื่อว่าจะมีคนเข้ามาทางนี้น้อยมาก เพราะถ้าเป็นวิทยุชุมชนที่แท้จริงไม่สามารถที่จะแสวงหารายได้มาแบ่งปันกัน และกำไรก็ไม่มี ถ้างั้นใครจะเข้ามา คนที่จะเข้ามาต้องเสียสละจริง ๆ ซึ่งผมว่ามีไม่เยอะ นอกจากมีไม่เยอะแล้วต้องมีศรัทธาแรงกล้า เสียสละทั้งเวลา กำลังกาย กำลังสมอง ความคิดครับ แล้วยิ่งถ้าขยายเครือข่ายใหญ่โตเท่าไร ทุนทรัพย์ยิ่งมากเท่านั้น เพราะนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีมาก แต่ตรงนี้จะดีไหมครับถ้าฝากพวกเราไปคิดว่า เราจะประเมินว่า จริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะเปิดช่องนี้ขึ้นมา จะมีคนทำทางด้านนี้สักเท่าไร มีกี่กลุ่ม พอจะไหวไหม พอชั่งใจ นี่ผมหมายถึงพวกเด็กและครอบครัวด้วยที่สนใจ เพราะผมก็สนใจด้วย ครอบครัวนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะพื้นฐานอนาคตประเทศชาติก็อยู่ที่เด็ก เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเราร่วมกันคิด เรามาคุยร่วมกันอีก ผมว่าเรามีทางออก
ในส่วนประกาศที่ผ่านมาแล้ว อยากเรียนว่าประกาศที่ผ่านมาแล้วมันเป็นประกาศชั่วคราว มันแก้เมื่อไรก็ได้ และสิ่งที่เราเขียนมามันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์นะครับ เราก็สามารถเขียนมันใหม่ได้ จริง ๆ อันเก่าผมก็ว่ามันก็ดีพอสมควร แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันสมบูรณ์ แล้วอันเก่าพูดไปจริง ๆ แล้ว มองไปที่วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่มาก โดยที่ตอนนั้นเราไม่คิดว่าเราจะไปแตะเรื่องวิทยุชุมชนเชิงประเด็น คือไม่ได้คิดว่าจะมีความต้องการ และไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลึก ๆ เบื้องหลัง ผมเองก็กลัว ผมกลัวว่าถ้าเปิดมาแล้วนี่เราไม่สามารถจัดสรรหรือทำได้หรืออะไรได้เพียงพอความต้องการเป็นที่พอใจได้ ตรงนั้นมันอาจจะมีปัญหา แต่ถ้าวันนี้มานั่งคุยกันวันนี้ ผมมีความรู้สึกว่ามีความหวัง อยากจะขอว่าเสียสละมาอีก กทช.จะจัดให้ มาที่นี่ ใช้ที่นี่เป็นที่หลวง ค่าอาหารก็นิดเดียว ซึ่ง สิ่งที่ได้มามีคุณค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปเยอะมากๆทีเดียว ตรงนี้ผมก็มีความรู้สึกผมตื้นตันและดีใจ ผมว่าพวกเรากำลังทำสิ่งดี ๆ อยากจะขอว่ามาอีกนะครับ หากมีการจัดอะไรอย่างนี้ ให้มาอีกนะครับ...”
 


นักวิชาการ(ถาม) : “...ได้ยินแต่กลุ่มนักวิชาการกลุ่มที่ท่านพนาได้พูดถึงนะคะกลุ่มของคุณนันทพร เพื่อป้องกันการครอบงำความคิดทางด้านนี้ คือไม่ทราบว่าเกิดขึ้นอย่างไร แต่ว่ามีเสียงสะท้อนก็อยากจะสะท้อนจากกลุ่มนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งไปให้ถึงกทช. ซึ่งขอสะท้อนให้กทช.ฟังนะคะว่า กทช.ไม่มีความจริงใจต่อภาคประชาชน ไม่มีนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนจริง ๆ ทำให้ไม่อยากร่วมเสวนาด้วยในการที่จะกำหนดนโยบาย
ตรงนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นตามนี้ เปิดโอกาสให้นักวิชาการกลุ่มอื่นได้เข้ามา เหมือนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชนที่แท้จริงได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายตรงนี้ด้วย กทช.ให้สิทธิกับประชาชนจริง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันเป็นธรรมหรือยัง อาจารย์ท่านนี้เคยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร แต่ว่าความคิดเห็นไม่สอดคล้องนักและสวนทางกับกทช. อีกเรื่องคือเรื่องการระดมความคิดเห็นก็ไม่สามารถที่จะเป็นไป สรุปแล้วเค้าค่อนข้างจะผิดหวังกับการทำงานของกทช. เพราะฉะนั้นอันนื้คือความเห็นของนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันมิให้ความคิดถูกจำกัดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมีอำนาจในการที่จะมากำหนดตรงนี้ อยากจะฝากสะท้อนให้ท่านได้ยิน
 
ดร.พนา (ตอบ) : “…จริง ๆ อยู่กันแบบนี้ผมก็อยากจะบอกว่าผมเองก็ไม่ค่อยพอใจตัวผมเองเท่าไร มันมีหลายอย่างที่อยากทำบางทีทำไม่ได้ เพราะคนเรานี่มีข้อจำกัด ผมก็มีข้อจำกัด แต่ว่าโดยเจตนาแท้ ๆ เวลาพูดถึง กทช.มันเป็นองค์กร องค์กรก็ประกอบด้วยคน คนในองค์กรไม่ได้เหมือนกันหมด นี่ถ้าพูดถึงตัวผมเอง รากฐานชีวิตผมก็มาจากวิชาการ นักวิชาการไม่กลัวหรอกครับความแตกต่างทางความคิดและก็นักวิชาการที่ดีก็ย่อมไม่ปิดกั้นนักวิชาการท่านอื่น ผมเองก็ถือว่าเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ที่ใดมีการถกเถียงที่นั่นไม่รู้จริง เราก็ยังถกเถียงกันอยู่ผมถึงชวนกันมาเจอกันใหม่บ่อย ๆ มาถกเถียงกัน เมื่อถกเถียงกันน้อยลงก็จะรู้จริง
เวลาคุยก็จะรู้สึกว่าแตกต่างกับซีกของสมาพันธ์และมูลนิธิ แต่ดูจริง ๆ แล้วไม่แตกต่าง แต่อาจมีข้อกังวลที่ต่างกันบ้าง นี่ผมถึงได้เชิญ เพราะนี่ถือว่าเป็นขุมกำลังสำคัญที่จะทำให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นเกิดได้ และเกิดได้อย่างถูกต้องด้วย ถ้าปล่อยผมทำตามลำพัง ผมก็เหมือนเด็ก ถ้าผมทำไปก็ทำไปผิด ๆ ถูก ๆ แต่ถ้ามาช่วยกันหลาย ๆ คน คอยติ คอยเตือน คอยสอนกัน คอยบอกกันเราก็จะได้สิ่งที่ดี ตรงนี้ผมตั้งใจอย่างนั้น นักวิชาการทั้งหลายผมเชิญเลยนะครับ ถ้าเผื่อยังไงอยากให้ผมเชิญท่านไหนบอกมาได้ ผมจะเชิญ บางครั้งอาจจะไม่ทั่วถึงไปบ้าง หรืออะไรบ้างก็เป็นธรรมดาของการทำงาน แต่โดยเจตนาไม่มีเลยที่จะปิดกั้นใคร มาช่วยกันหลาย ๆ คน ...”