สถานีวิทยุเสียงธรรมฯกับความเป็นวิทยุภาคประชาชน
“สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ” กับวิทยุประเภท “บริการสาธารณะ ภาครัฐ”
บริการสาธารณะ ภาครัฐ (ตามกฎหมาย)
๑. ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ “บริการสาธารณะ”
๒. ต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลอื่น
๓. ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่โฆษณา
๔. การจะได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องคำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมายและความจำเป็น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
o รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ => มาตรา ๓๗, ๔๕, ๔๗, ๖๖
o พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ๒๕๔๓ => มาตรา ๒๔ – ๓๑
o พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ => มาตรา ๑๐(๒)(ก), ๑๑(๒), ๑๗
ทำไม“วิทยุเสียงธรรมฯ” ไม่ขอเป็นวิทยุประเภท “บริการสาธารณะภาครัฐ”
๑. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ มีลักษณะที่ตรงกับหลักการของ “วิทยุภาคประชาชน” ทั้งในการก่อตั้ง การบริหารจัดการ การดูแลรักษา ตลอดถึงความมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน โดยต้องการความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐและทุน แต่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดและเข้มงวดตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ในกรอบกติกาแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง เพื่อการกระจายเสียงเผยแผ่ธรรมกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
๒. ไม่มีสิทธิได้ใบอนุญาตชั่วคราวระหว่างไม่มีกสทช. จึงต้องอยู่ในสภาพวิทยุเถื่อนไปอีกนาน
๓. อาจถูกแทรกแซงได้ง่ายจากรัฐบาลหรือหน่วยราชการที่กำกับดูแลด้านศาสนา เพราะไม่มีกฎหมายประกันเรื่องความเป็นอิสระทั้งในการกำหนดผังรายการและการบริหารจัดการ จนในที่สุดการประกอบกิจการอาจถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จจากภาครัฐ ทำให้เนื้อหาด้านศาสนาตามพระธรรมวินัยแท้อาจต้องวิปริตแปรปรวนไปได้ เช่น กรณีรัฐเข้าแทรกแซงกิจการของสงฆ์และใช้วิทยุของรัฐกระจายข่าวบิดเบือน เป็นต้น
๔. ต้องรอ กสทช. เข้ามากำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับรองได้ว่า กสทช.จะเกิดขึ้นเมื่อใด และในทางปฏิบัติอาจไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้
๕. หาก กสทช. เกิดขึ้นไม่ได้เนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองหรือนายทุน วิทยุเสียงธรรมฯจะต้องเป็นวิทยุเถื่อนตลอดไป
๖.แม้มี กสทช.แล้ว ก็อาจตีความกฎหมายไม่เป็นธรรม กลายเป็นข้อถกเถียงหรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรงว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายและความจำเป็นเพียงใดในการกระจายเสียงธรรมะ เพราะการเผยแผ่ธรรมะน่าจะเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานภาครัฐด้านศาสนาเท่านั้น หากได้รับอนุญาตก็อาจต้องถูกครอบงำหรืออยู่ในกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของรัฐ ซึ่งจะต้องเป็นประเด็นขัดแย้งกันอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
“สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ” กับวิทยุประเภท “บริการชุมชน ภาคประชาชน”
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (บริการชุมชน)
o รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ => มาตรา ๓๗, ๔๕, ๔๗, ๖๖
o พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ๒๕๔๓ => มาตรา ๒๔ - ๓๑
o พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ => มาตรา ๑๒, ๒๑, ๓๓
o ประกาศ กทช. => ข้อ ๑, ๓, ๔, ๗, ๑๑, ๑๒
วิทยุภาคประชาชน หรือ วิทยุบริการชุมชน
(ตามกฎหมาย)
๑. ประโยชน์สาธารณะ ไม่หารายได้จากโฆษณา
๒. วัตถุประสงค์เช่นเดียวกับ“บริการสาธารณะ”
๓. ตามความต้องการของชุมชมหรือท้องถิ่น
๔. ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน
๕. ดำเนินการโดยชุมชน
๖. เป็นอิสระมีเสรีภาพเสนอข่าว-แสดงความเห็น
๗. ปราศจากการเมืองทุกระดับ หรือ เอกชนที่มุ่งกำไรเชิงพาณิชย์
๘. มาตรฐานทางเทคนิคของวิทยุชุมชนมี ๔ ประเภท(รัศมีกระจายเสียง ๓ กม., ๕ กม., ๑๕ กม. และ ลักษณะเฉพาะตามที่ กทช.กำหนด)
|
สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ
๑. ไม่มีโฆษณา
๒. เพื่อการศาสนา
๓. ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ต้องการฟังธรรม
๔. ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ร่วมกันก่อตั้ง และช่วยกันดูแลรักษาอุปกรณ์ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
๕. ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการดำเนินการ
๖. มีอิสระในการคัดเลือกเนื้อหาสาระของรายการไม่ถูกครอบงำโดยภาครัฐหรือภาคธุรกิจ
๗. มีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่แสวงหารายได้ทางธุรกิจ
๘. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เป็น “วิทยุบริการชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ” เนื่องจากมี “เครือข่ายระดับชาติ” ๑๑๗ สถานี กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่การกระจายเสียงครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ภายใต้การประกอบกิจการของ “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” เพียงองค์กรเดียว***
|
หมายเหตุ *** ประชาชนทั่วประเทศในแต่ละท้องถิ่น/ภูมิภาค พร้อมใจกันมอบถวายสถานีวิทยุ (อุปกรณ์-สิทธิจับจองคลื่น) ต่อหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อให้เป็นสมบัติของหลวงตาฯ อยู่ภายใต้นโยบาย ผังรายการ ฯลฯ ที่หลวงตากำหนด ซึ่งท่านได้มอบอำนาจให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนในนามของประชาชนร่วมกันทั้งชาติ โดยมีคณะสงฆ์ที่หลวงตาแต่งตั้งขึ้นคอยกำกับดูแล สำหรับสถานีลูกข่ายแต่ละแห่งนั้นจะมีคณะกรรมการของสถานีลูกข่ายทำหน้าที่ดูแลรักษา บำรุงและซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ โดยประชาชนในพื้นที่ร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ***
สรุป
ด้วยลักษณะการประกอบการทั้งระบบเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จึงกล่าวได้ว่า “เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ” เป็นไปตามหลักการของ “วิทยุภาคประชาชน” อย่างแท้จริงที่มุ่งหมายให้การดำเนินการเป็นอิสระจากรัฐและทุนทางธุรกิจ ดังนั้น แนวคิดที่ออกแบบให้เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ เป็น “บริการสาธารณะ ภาครัฐ” จึงขัดต่อความเป็นจริงและขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชน
การที่ประชาชนตื่นตัวเพื่อดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะนับเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปสื่อ และการที่ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมะและยินดีที่จะบริจาคเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ชุมชนของตนนับเป็นเรื่องที่ควรยินดีและควรให้การสนับสนุนโดยเร็ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญมากกว่าการนำคลื่นมาเพื่อการเก็งกำไรหรือการทำธุรกิจ การกล่าวว่าคลื่นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะถูกต้องที่สุดที่จะต้องนำสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มิใช่เพื่อเปิดทางให้แก่การเก็งกำไรหรือการค้าซึ่งอาจไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงขอประชาชนเลยก็ได้
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|