มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

อีเมล พิมพ์ PDF

สถานีวิทยุเสียงธรรมประชาชน

  ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
 
            สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เริ่มประกอบกิจการกระจายเสียงตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยประชาชนได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ณ สวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย ๓ กรุงเทพมหานคร และพร้อมใจกันอาราธนาพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ขึ้นเป็นองค์ประธาน เพื่อขอให้ท่านเมตตากำหนดนโยบายและวางผังรายการธรรมะ 
เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๘ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรับสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนและเครือข่ายไว้ในพระอุปถัมภ์ และเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายที่บ้านตาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดพระธรรมเทศนาของของครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรู้จริงเห็นจริงทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติจากทั่วประเทศจำนวน ๒๖ รูป อาทิเช่น หลวงปู่บุดดา ถาวโร จ.สิงห์บุรี, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จ.สุรินทร์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร, ท่านพ่อลี ธัมมธโร จ.สมุทรปราการ, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร จ.เชียงใหม่, หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน จ.อุดรธานี, หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท จ.จันทบุรี, พระอาจารย์ชา สุภัทโท จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกระจายเสียงให้ความรู้เกี่ยวกับชีวประวัติพระมหากษัตริย์ไทย ประวัติบุคคลสำคัญของชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไทย บทเพลงที่ให้ข้อคิดดีงาม ข่าวสารบ้านเมือง ฯลฯ
ปัจจุบันมีสถานีในเครือข่ายกว่า ๑๑๗ สถานี กระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย
ตลอดระยะเวลากว่า ๕ ปี สถานีวิทยุเสียงธรรมฯพร้อมเครือข่าย ได้ดำเนินการด้วยเจตนารมณ์ที่มั่นคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีลักษณะการดำเนินการดังนี้
·       เป็นสถานีวิทยุที่ก่อตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ (มูลนิธิเสียงธรรมฯหรือหลวงตาฯ มิใช่ผู้ลงทุน)
·       ประชาชนช่วยกันบริจาคและแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ
·       ประชาชนพร้อมใจกันถวายสถานีวิทยุแด่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อขอเป็นสถานีลูกข่ายรับสัญญาณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์โดยหลวงตาฯเมตตาแต่งตั้งคณะกรรมการ มูลนิธิเสียงธรรมฯซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคต่างๆ ทำหน้าที่บริหารจัดการแทน
·       เนื่องจากมูลนิธิฯ คำนึงถึงความแตกต่างของผู้ฟังเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ อายุ สถานะ เพศ วัย การศึกษา อาชีพ ความสนใจ และสภาพปัญหามูลนิธิฯ จึงกำหนดเนื้อหาและรูปแบบของรายการธรรมะให้หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับชั้น ส่งผลให้จำนวนผู้ฟังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
·       เพื่อให้นโยบายและการดำเนินการเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชนอย่างยั่งยืนประชาชนจึงพร้อมใจกันคัดเลือกผู้แทนแต่ละจังหวัดเข้าเป็นสมาชิก เครือข่ายผู้ฟังวิทยุเสียงธรรม ตามหลักการ Self Regulationเพื่อตรวจสอบ ประเมินผล และเฝ้าระวังการกระจายเสียงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในการก่อตั้ง และเพื่อให้เกิด Co-Regulation อันเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่การกำกับดูแลของ กทช.
·       ในการก่อตั้งสถานีวิทยุแต่ละแห่ง จะใช้กำลังส่งมากหรือน้อยเพียงใด ต้องไม่รบกวนคลื่นวิทยุที่มีอยู่เดิม และต้องไม่รบกวนวิทยุการบิน ข้อปฏิบัติที่ผ่านมานั้นหากมีข้อผิดพลาดที่เกิดจากทางสถานี คณะกรรมการของสถานีลูกข่ายฯแต่ละแห่งจะรีบแก้ไขในทันที
·       มูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นเพียงองค์กรกลางที่มาจากผู้แทนประชาชนของทุกภาค เนื้อหาการกระจายเสียงเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
 

สารบัญการประกอบกิจการวิทยุเสียงธรรมฯ