มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก บทที่ 1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

อีเมล พิมพ์ PDF
บทที่ 1   บทนำ
             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พุทธศักราช 2540 ได้ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาชนในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งต่อมามีการตรา "พระราชบัญญัติว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543" โดยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีสัดส่วนในคลื่นความถี่ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น (ภาคละ 30% โดยประมาณ) (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2552) เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พุทธศักราช 2550    ยังคงให้หลักประกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาชน รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปีพุทธศักราช 2540 เช่น มาตรา 45 "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล" มาตรา 47 "การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินการสื่อมวลชนภาคสาธารณะ" และมาตรา 66 "สิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคลื่นความถี่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ในการตรา "พระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2551" นั้น ได้กล่าวถึงภาครัฐ (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) และภาคเอกชน (ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น) โดยละเลยมิได้กล่าวถึงภาคประชาชนแต่อย่างใด และรัฐบาลได้ออก "ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" (กทช.) ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2552 ให้การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของภาคประชาชนให้ อยู่ในข่าย "วิทยุกระจายเสียงชุมชน" ซึ่งมีลักษณะทางเทคนิคที่แคบมาก (โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเมืองใหญ่ มีพื้นที่การกระจายเสียงรัศมีในการส่งสัญญาณไม่เกิน 3 กิโลเมตร สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเมือง มีรัศมีในการส่งสัญญาณไม่เกิน 5  กิโลเมตร และสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนนอกเขตเมือง รัศมีในการส่งสัญญาณไม่เกิน 15 กิโลเมตร) และให้ภาคประชาชนยื่นความประสงค์ในการทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราวภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นสถานีเถื่อน
จาก "ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2552" ในประเด็นดังกล่าว ถือได้ว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 และฉบับปี พ.ศ.2550 ในเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ภาคประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าภาครัฐและภาคเอกชน การออก "ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" (กทช.) ในประเด็นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของภาครัฐนั้น เป็นการสื่อสารของภาครัฐที่มีถึงประชาชนในวงกว้าง นับเป็นสิ่งจำเป็นในการปกครองประเทศ ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของภาคเอกชนนั้น เป็นไปเพื่อการแสวงหากำไร โดยเน้นธุรกิจการค้าและการโฆษณาเป็นหลักใหญ่ ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของภาคประชาชนนั้น เป็นการสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และเป็นการสื่อสารจากประชาชนถึงภาครัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีโฆษณาและไม่แสวงหากำไร จึงนับเป็นการสื่อสารที่บริสุทธิ์ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปัจจุบันคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของภาคประชาชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในสังคมปัจจุบันที่ปัญหาเศรษฐกิจรัดตัว ผู้ที่จะเข้าวัดเพื่อไปแสวงหาธรรมะนั้นมีจำนวนน้อย คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม จึงเป็นช่องทางที่พระภิกษุสงฆ์และผู้รู้ในพระพุทธศาสนา ได้สื่อธรรมะถึงประชาชนในวงกว้าง ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น (เช่น เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน 117 สถานี ทั่วประเทศ ของกลุ่มพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) การจำกัดคลื่นความถี่ให้มีความหมายคับแคบเพียง "วิทยุกระจายเสียงชุมชน" ที่มีพื้นที่การกระจายเสียงรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และ 15 กิโลเมตร นั้น จึงนับเป็นการปิดกั้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ ประชาชน พุทธศาสนิกชน และพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร) เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนในการเข้าถึงคลื่นความถี่ เช่นเดียวกับภาครัฐและภาคเอกชน (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2552)
เพราะการจำกัดคลื่นความถี่ให้มีความหมายคับแคบเพียง "วิทยุกระจายเสียงชุมชน" ที่มีพื้นที่การกระจายเสียงรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และ 15 กิโลเมตร นั้น จึงนับเป็นการปิดกั้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาชนผู้รับฟังและผู้ปฏิบัติธรรม เพราะสื่อวิทยุเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่จำกัดเวลา การประกอบอาชีพ และสถานที่ และจากคำพูดของบุคคลเพียงคนเดียวที่พูดขึ้นมาระหว่างการหารือในกลุ่มลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวว่า “จะทำอย่างไรหนอที่จะสามารถเผยแพร่พระธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัวออกไปอย่างกว้างขวางกว่านี้ได้”  ซึ่งบุคคลคนนี้เสนอว่า “มันจะยากอะไรก็ส่งไปทางคลื่นวิทยุสิ คลื่นวิทยุสามารถส่งผ่านออกไปทั่วท้องอวกาศ ไม่มีขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด ขอให้มีเครื่องรับวิทยุ จะอยู่บ้านนอก ในเมือง ป่าเขา ในรถ ในเรือ ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือตามท้องไร่ท้องนา ก็สามารถรับฟังได้ นอกจากนี้ผู้ฟังวิทยุยังสามารถทำงานของตนได้อีกด้วย” จากจุดนี้เอง ได้นำไปสู่การคิดที่จะเผยแพร่พระธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัวผ่านทางสถานีวิทยุ ซึ่งในขณะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม และมีตรา "พระราชบัญญัติว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543"  ด้วย
สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน และสถานีเครือข่ายทั่วประเทศ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จำนวน 117 สถานี จึงเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่อประโยชน์ของประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อการเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นธรรมะปฏิบัติ โดยการนำพระธรรมเทศนาของพระผู้ทรงศีล ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงในการปฏิบัติธรรมมาเผยแพร่ออกอากาศ และเพื่อส่งเสริมให้พระพุทธศาสนิกชนที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาได้ปฏิบัติตามหลักธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติภาวนา เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเนื้อหาของรายการจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เพราะต้องการสื่อสารนำพระธรรมเทศนาที่เป็นธรรมะปฏิบัติ ที่เรียกว่า การปฏิบัติสมถวิปัสนากัมมัฏฐานเผยแพร่สู่ประชาชนผู้ปฏิบัติ เป็นสถานีที่ไม่มุ่งแสวงหายผลกำไรทางธุรกิจและไม่มีการโฆษณา สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนได้ทดลองออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 ที่สวนแสงธรรม พุทธมณฑลสายสาม นครปฐม และที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี โดยออกอากาศด้วยระบบคลื่น เอฟ.เอ็ม. 103.25 เม็กกะเฮิร์ต ต่อมาได้ร่วมกันขยายสถานีวิทยุเครือข่ายออกไปตามจังหวัดต่างในภูมิลำเนาของตน จนกระทั่งในปัจจุบันมีสถานีวิทยุเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ 117 สถานี
สภาพของปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลต่อจิตใจของประชาชนและผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับปัญหาดังกล่าวได้ แม้ว่ามีสัญญาณบางด้านที่ชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว แต่จากงานวิจัยของสถาบันการเงิน และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของรัฐหลายสถาบันต่างให้ข้อสรุปที่เป็นไปในแนวเดียวกันว่า จะมีการฟื้นตัวค่อนข้างช้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ด้านสังคม ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือข่าวตามสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้นำเสนอข่าวที่เป็นมีต้นเหตุจากความเสื่อมทางด้านจิตใจ ขาดศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงและจะเป็นปัญหามายิ่งขึ้นต่อสังคมในอนาคต   ทั้งนี้เพราะประชาชนจำนวนมากยังเข้าไม่ใจถึงหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสนาที่ต้องปฏิบัติจึงจะเข้าถึงคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง และในปัจจุบันสื่อทางพุทธศาสนาก็มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงทำให้ประชาชนเหล่านั้นไม่สามารถนำหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันเมื่อเทียบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งในทุก ๆ ด้านของยุคโลกาภิวัฒน์
วิทยุถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนทั้งในภาคเมือง และชนบท ได้มากที่สุด ทั้งในมิติของเวลาและสถานที่ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนได้ทำบทบาทและหน้าที่นำธรรมะของพระกรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่สำคัญยิ่งในปัจจุบันได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงได้ตั้งสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ แต่แนวโน้มที่เกิดจากร่าง พ.ร.บ. การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ปี พ.ศ. 2552 จะสร้างข้อจำกัดในด้านกำลังส่ง ส่งผลต่อปัญหาในการรับฟังของภาคประชาชน ส่งผลให้ประชาชนได้รับฟังธรรมะไม่ทั่วถึงเท่าเดิม ซึ่ง พ.ร.บ. นี้ เป็นเหตุให้ลดสิทธิในการที่เคยรับฟังธรรมะลง นอกจากนี้ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์ สายพระกรรมฐานที่จำวัดอยู่ตามเมือง และป่าเขา ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศบางส่วน ก็ต้องการแนวคำสอนที่แท้จริง เพื่อปฏิบัติตามแนวพุทธปฏิบัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล เพื่อวัตถุประสงค์การหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรับฟังและการปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
ด้วยสภาพของที่มา และความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเหตุให้นำไปสู่การศึกษาในเรื่องของพฤติกรรมการรับฟัง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ. การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ปี พ.ศ. 2552
 

สารบัญ