มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก คู่มือวิทยุชุมชนเชิงพื้นที่

คู่มือวิทยุชุมชนเชิงพื้นที่

อีเมล พิมพ์ PDF

 

คู่มือวิทยุชุมชน (FNS)
กาญจนา แก้วเทพ
ส่วนที่ 1 : ปรัชญา แนวคิด และหลักการของวิทยุชุมชน
1.1 ประวัติความเป็นมาของวิทยุชุมชนในต่างประเทศและในประเทศไทย
 
1.2 ปรัชญาและลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
 
1.3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนในประเทศไทย
 
1.4 หน้าที่/บทบาทและประโยชน์ของวิทยุชุมชน
 
1.5 หลักการดำเนินงานที่ดีของวิทยุชุมชน
1.5.1       โครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชน
1.5.2       คณะกรรมการดำเนินงาน : กระบวนการได้มาและภาระหน้าที่
1.5.3       การบริหารจัดการ
1.5.4       หลักการผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการ
 
1.6 กลไกการเสริมสร้างพลังของวิทยุชุมชน
1.6.1       การฝึกอบรมรูปแบบต่าง ๆ
1.6.2       การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
1.6.3       การบริหารจัดการงบประมาณ
1.6.4       การติดตั้งกลไกการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง


คู่มือวิทยุชุมชน
 
ส่วนที่ 1 : ปรัชญา แนวคิด และหลักการของวิทยุชุมชน
 
1.1 ประวัติความเป็นมาของวิทยุชุมชนในต่างประเทศและในไทย
 
1.1.1       วิทยุชุมชน คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2540 เมื่อเวลาเปิดวิทยุฟัง เราก็มักจะได้ยินคำประกาศว่า “ที่นี่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” ซึ่งเราก็จะได้รับฟังข่าว ฟังเพลง ฟังรายการสารคดีจากรายการวิทยุแบบนั้นกันอย่างเป็นปกติธรรมดา แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาประกาศใช้ ผู้ฟังบางคนในต่างจังหวัดอาจจะเคยหมุนคลื่นวิทยุไปเจอประกาศว่า “ที่นี่ รายการวิทยุชุมชนของคนโคราช” หรือ “ที่นี่วิทยุเสียงบ้านล้านนา” ฯลฯ
 
และผู้ฟังหลายคนอาจจะเกิดข้อกังขาในใจว่า “แล้ววิทยุชุมชนนี่มันคืออะไร มีข้อเหมือนหรือแตกต่างจากวิทยุแห่งชาติ/แห่งประเทศไทยอย่างไร” สำหรับเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในหนังสือคู่มือวิทยุชุมชนเล่มนี้ จะช่วยไขปริศนาข้อข้องใจที่ว่า วิทยุชุมชนนั้นคืออะไร ใครเป็นคนจัด ใครเป็นคนฟัง ทั้งคนจัดและคนฟังต้องทำอะไรบ้าง มีการบริหารจัดการกันอย่างไร มีรายการอะไรให้ฟังบ้าง วิทยุชุมชนมีประโยชน์อะไร ฯลฯ
 
สำหรับในตอนเริ่มแรกนี้ จะขอกล่าวถึงคำขวัญสั้น ๆ เพื่อแนะนำให้รู้จัก “วิทยุชุมชน” สักเล็กน้อยว่า วิทยุชุมชนนั้น เป็น ”สื่อเพื่อประชาธิปไตย” จึงต้องมีจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น ลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชนจึงเป็นวิทยุโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งหมายความว่าเป็นวิทยุที่ดำเนินงานโดยชุมชน มีชุมชนเป็นเจ้าของ และมีเนื้อหารายการที่ทำเพื่อประโยชน์ของชุมชน
 
สำหรับต้นกำเนิดหรือที่มาที่ไปของวิทยุชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “วิทยุน้องใหม่” นั้น เกิดมาจากข้อจำกัดของวิทยุรุ่นพี่ที่มีมาก่อน แต่เดิมนั้น มีระบบวิทยุอยู่ 2 ระบบในสังคม คือ วิทยุสาธารณะ ที่มีรัฐเป็นทั้งเจ้าของและผู้ปฏิบัติงาน วิทยุแบบนี้มักมีเป้าหมายที่จะทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะ และมุ่งที่จะส่งกระจายเสียงให้กว้างขวางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่อาจรู้จักกันในนามของ “วิทยุแห่งชาติ” อีกประเภทหนึ่งคือวิทยุธุรกิจ ซึ่งเป็นวิทยุที่เอกชนอาจจะไปเช่าสถานี/เช่าเวลาจากภาครัฐ มาดำเนินธุรกิจเพื่อเป้าหมายของการแสวงหาผลกำไร และก็มุ่งส่งกระจายเสียงให้กว้างขวางเพื่อขยายตลาดเช่นเดียวกัน
 
วิทยุรุ่นพี่ทั้งสองประเภทนี้ เช่น วิทยุสาธารณะ ล้วนไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะถิ่นเฉพาะท้องที่ของแต่ละชุมชนซึ่งมีแตกต่างหลากหลายกันไป เช่น เนื้อหารายการเกี่ยวกับปัญหาจราจรย่อมไม่มีประโยชน์สำหรับคนในจังหวัดเลย ส่วนวิทยุธุรกิจก็มิได้มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การตอบสนองความต้องการของชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้น วิทยุชุมชนจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่วิทยุที่เคยมีมาไม่สามารถจะแสดงบทบาทได้
 
1.1.2       ต้นกำเนิดมาจากต่างประเทศ
วิทยุชุมชนหรือที่อาจมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วิทยุท้องถิ่น” ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยสถานี KPFA ในเมืองเบิร์กเล่ย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพี พ.ศ. 2491 (อายุ 50 กว่าปีแล้ว) โดยมีกลุ่มผู้ดำเนินงานเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ผู้แสวงสันติและรักอิสระ ลักษณะสำคัญของวิทยุท้องถิ่นนี้แตกต่างจากวิทยุ 2 รูปแบบที่มีอยู่ คือ วิทยุสาธารณะ (Public radio) และวิทยุธุรกิจ (Commercial radio) ในหลายลักษณะ เช่น ส่งกระจายเสียงด้วยกำลังส่งต่ำ (ประมาณ 1 กิโลวัตต์) ครอบคลุมในพื้นที่จำกัดประมาณ 6-10 กิโลเมตร ซึ่งทำให้แตกต่างจากวิทยุสาธารณะระดับชาติ และดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไร (Non-commercial) ซึ่งทำให้แตกต่างไปจากวิทยุธุรกิจ เงินที่ใช้ดำเนินการส่วนใหญ่ได้มากจากสมาชิกในชุมชน หรือมาจากการบริจาคของมูลนิธิ องค์กรการกุศล และการระดมทุนของกลุ่มผู้ดำเนินงาน
 
นอกเหนือจากเรื่องกำลังส่ง/พื้นที่ครอบคลุม/และการไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสถานีวิทยุท้องถิ่น KPFA ก็คือ ยึดหลักว่ากรรมสิทธิ์และการควบคุมวิทยุเป็นของประชาชน รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดบริหารจัดการและการดำเนินการ KPFA จะทำงานโดยใช้อาสาสมัครที่เป็นตัวแทนของชุมชนเป็นหลัก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเป็นผู้ช่วยเหลือด้านเทคนิค
 
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เพียง 1 สถานีเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ปัจจุบันนี้วิทยุชุมชนในสหรัฐได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง จากจำนวนสถานีวิทยุ 500 แห่งทั่วประเทศ มีสถานีวิทยุชุมชนถึง 100 แห่ง และในปี พ.ศ. 2518 (เกือบ 30 ปี ต่อมา) ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์นักวิทยุกระจายเสียงชุมชนแห่งชาติ มีสมาชิกถึง 60 สถานี
 
และจากสถานีวิทยุชุมชนแห่งแรกในอเมริกา ปัจจุบันนี้ แนวคิดและการดำเนินงานวิทยุชุมชนได้แผ่ขยายออกไปทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน สวีเดน ในทวีปลาตินอเมริกา อัฟริกา รวมทั้งทวีปเอเชียของเราเอง เนื่องจากวิทยุชุมชนได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า เป็นระบบการสื่อสารที่สามารถตอบสนองความมสนใจและความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่น สถานีวิทยุชุมชนเอฟเอ็มนาพาสะ ที่เมืองฮิวะทสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไป 60 กิโลเมตร ผลจากการเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่แต่เดิมมองเห็นแต่เมืองหลวงเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญและทันสมัย แต่เมื่อได้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครทำรายการวิทยุ ทำให้วัยรุ่นเหล่านั้นต้องศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่น จึงบังเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของท้องถิ่นตนเองมากยิ่งขึ้น ผลจากการที่ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในวิทยุชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้มีส่วนเกื้อหนุนวิทยุ ช่วยเหลือชุมชน และอาสาสมัครเช่นกลุ่มวัยรุ่นก็ได้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองด้วย
 
ความแพร่หลายของวิทยุชุมชนในปัจจุบัน ทำให้เกิดมีวิทยุชุมชนเกือบทุกแห่งทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2526 (35 ปี หลังมีวิทยุชุมชนแห่งแรก) เป็นปีที่กลุ่มผู้ชื่นชอบวิทยุชุมชนได้มารวมตัวกันที่เมืองมอนเทรออล ประเทศแคนาดา และจัดตั้งองค์กรนานาชาติชื่อ AMARC ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลใด เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชน มีสมาชิกจำนวนเกือบ 30,000 คน และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย 106 ประเทศทั่วโลก จุดมุ่งหมายของ AMARC คือให้การสนับสนุนและกระตุ้นการพัฒนาของชุมชนและวิทยุชุมชน
 
1.1.3       วิทยุชุมชนในประเทศไทย
(ก) ก่อนจะถึงวิทยุชุมชนแบบตัวจริงเสียงจริง
วิทยุกระจายเสียงของไทยเริ่มเปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470 (75 ปี มาแล้ว) โดยเริ่มต้นจากการเป็นวิทยุของรัฐที่ส่งกระจายเสียงในพื้นที่แคบ ๆ ก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีของเครื่องส่งยังไม่ก้าวหน้า แต่ในระยะต่อมา ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้น จึงมีการดำเนินการในลักษณะของวิทยุส่วนกลาง คือพยายามจะส่งกระจายเสียงให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างไกลที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องรัศมีการส่งและการรับฟัง จึงได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุในท้องถิ่นขึ้นในที่ต่าง ๆ แต่ก็ยังคงเป็นการถ่ายทอดรายการจากส่วนกลาง พร้อมทั้งเริ่มมีการทำรายการจากท้องถิ่นเข้ามาผสมบ้าง
 
อีกรูปแบบหนึ่งของ “วิทยุท้องถิ่น” ในระยะเริ่มแรกของไทยคือ “วิทยุประจำถิ่น” (วปถ) ของกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบกและ “สถานีวิทยุปชส.” (เปลี่ยนเป็น สวท.ในเวลาต่อมา) ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีกำลังส่งคลื่นครอบคลุมเฉพาะภูมิภาค หรือเฉพาะพื้นที่ไม่กี่จังหวัด แต่ทุกสถานีก็ยังมีหน่วยงานราชการเป็นเจ้าของและดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่รั ฐ ถึงแม้จะพยายามให้บริการข่าวสารหรือจัดรายการ ”เพื่อ” ประชาชนในท้องถิ่นก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นวิทยุชุมชนตามหลักสากล เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกเนื้อหาและความเป็นเจ้าของยังไม่ได้เกิดจากความคิดริเริ่มและการบริหารจัดการของประชาชนในชุมชนโดยตรง
 
จากรูปแบบวิทยุของรัฐที่เรียกได้ว่าเป็น “วิทยุสาธารณะ” ในระยะต่อมาก็ได้เกิดมีวิทยุของภาคธุรกิจที่มีเป้าหมายหลักในการดำเนินงานทางวิทยุเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก  เช่น สถานีวิทยุขนาดเล็กในท้องถิ่นที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นหลังปี พ.ศ. 2492 นั้น ส่วนใหญ่มีบริษัทธุรกิจด้านบันเทิงหรือโฆษณาเข้ามาดำเนินการกิจการตั้งแต่การลงทุนปลูกสร้างอาคาร จัดหาเครื่องส่งอุปกรณ์ บำรุงรักษาอุปกรณ์ ขายเวลา หาโฆษณา และจัดทำรายการ หรือซื้อเวลาจากสถานีของรัฐแล้วมาขายเวลาต่อในลักษณะของโบรกเกอร์คนกลางตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้
 
จากรูปแบบวิทยุของรัฐและวิทยุธุรกิจทั้งสองแบบที่กล่าวมา ในปี พ.ศ. 2534 (เมื่อ 10 ปีที่แล้ว) คนในกรุงเทพฯก็เริ่มได้รู้จักกับโฉมหน้าใหม่ของวิทยุอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น “วิทยุชุมชน” รูปแบบหนึ่ง คือสถานีวิทยุ จส.100 และสถานีวิทยุสวพ.91 (ปี พ.ศ. 2537) ทั้ง 2 สถานีนี้จะจัดรายการโดยมีประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นผู้รายงานสถานการณ์การจราจรให้ทราบ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมจัด ร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ถือว่าได้เข้าถึงสื่อและมีส่วนร่วมในการจัดรายการด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่เข้าถึงสื่อนั้นก็เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง และในการคัดเลือกเนื้อหารายการ และกลั่นกรองออกอากาศ ยังเป็นอำนาจของผู้จัดรายการ และพนักงานของบริษัท หรือเจ้าหน้าที่สถานี ส่วนเจ้าของสถานีนั้นก็ยังเป็นกองทัพบกและกรมตำรวจ มิใช่ชุมชน

วิทยุชุมชน

 
 
วิทยุธุรกิจ
วิทยุสาธารณะ
ของรัฐ
เป้าหมายไม่แสวงหากำไร
พื้นที่ครอบคลุมแคบ
ตอบสนองความต้อง การเฉพาะท้องถิ่น
เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
ถือเอาผลประโยชน์ท้องถิ่นเป็นเป้าหมายสูงสุด
ต่างจาก
ต่างจาก
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(ข) ถึงยุควิทยุชุมชนในไทยเสียที
ช่วงระยะเวลาของการมีวิทยุชุมชนในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ “ช่วงทดลอง” และ “ช่วงของจริง”
 
ช่วงทดลอง ในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการทดลองจัดทำรายการวิทยุชุมชนที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับหลักการที่กล่าวมาข้างต้นให้มากที่สุดขึ้นที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยระบบ FM ที่จังหวัดจันทบุรี โดยนายสุรินทร์ แปลงประสพโชค ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ในขณะนั้น หลักการวิทยุชุมชนที่นำมาใช้คือ “การเป็นสื่อแบบประชาธิปไตย” (democratic media) และ “การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม” (participatory communication) คือให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้ง่าย (accessibility) ให้ประชาชนช่วยกันคิด วางแผน กำหนดเนื้อหาการผลิตรายการร่วมกัน (participation) และให้ประชาชนเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารรายการด้วยตนเอง (self-management) โดยมีนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.จันทบุรี และคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา (ดูรายละเอียดในกรณีศึกษาวิทยุชุมชน จ.จันทบุรี)
 
เป้าหมายของการทดลองจัดวิทยุชุมชนผ่านรายการชื่อว่า “รายการสร้างสรรค์จันทบุรี” นั้น เพื่อตอบคำถามหลัก ๆ 4 ข้อ คือ
1. จะเป็นไปได้ไหมที่จะมีวิทยุชุมชนในสังคมไทย
2. จะต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการวิทยุชุมชนในแบบใด
3. จะต้องมีวิธีการผลิตเนื้อหารายการของวิทยุชุมชนอย่างไร
4. ผู้ฟังจะสนใจรับฟังวิทยุชุมชนมากขึ้นหรือไม่ เพราะมูลเหตุจูงใจอันใด
หลังจากทำการทดลองส่งกระจายเสียงไปได้ 2 เดือน ผู้วิจัยก็ได้คำตอบ 4 ข้อ ดังนี้
1. มีความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีวิทยุชุมชนในประเทศไทย
2. การบริหารจัดการนั้นจะต้องดำเนินการในรูปของคณะกรรมการที่มีตัวแทนของชุมชน เช่น ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครชุมชนเป็นกรรมการ ใช้รูปแบบการทำงานร่วมกันด้วยการประชุมปรึกษาหารือและแบ่งความรับผิดชอบกัน
3. การผลิตเนื้อหาให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนนั้น จะต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชนก่อน และต้องมีการติดตามประเมินผลหลังจากทำรายการแล้ว
4.     หากมีเนื้อหาที่ตอบสนองและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น จำนวนผู้ฟังวิทยุชุมชนจะเพิ่มมากขึ้น
 
ช่วงของจริง ในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีลักษณะปฏิรูปทางการเมือง และส่งเสริมประชาธิปไตยแก่ประชาชนอย่างมาก ในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อประเภทที่ใช้คลื่นความถี่แม่เหล็กไฟฟ้าเช่นวิทยุนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม ให้แก่หน่วยงานทั้งของรัฐ องค์กรเอกชน ไปจนถึงประชาชนในตำบลหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปในทุกที่ของประเทศไทย โดยมีความหวังว่า คลื่นความถี่เหล่านี้จะไม่เพียงถูกใช้เพื่อส่งข่าวสารจากรัฐไปสู่ประชาชนทางเดียวเช่นที่เคยเป็นมา แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ประชาชนส่งข่าวสารกลับมายังรัฐ และให้ประชาชนได้ส่งข่าวสารถึงกันเองในแนวระนาบ เพื่อให้ข่าวสารที่แพร่กระจายหลากหลายนี้ มีบทบาทในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
 
หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นี้ คือ ข้อความในมาตรา 40 ที่ระบุเอาไว้ว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ” (กล่าวคือเป็นของชาติ ไม่ใช่ของรัฐ หรือรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว)
 
ข้อความในมาตราดังกล่าวเท่ากับเป็นการกรุยทางให้วิทยุชุมชนในความหมายที่แท้จริงมีโอกาสที่จะถือกำเนิดได้ในสังคมไทย และรัฐบาลในขณะนั้นได้ขานรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยการมอบนโยบายให้กรมประชาสัมพันธ์และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) จัดทำโครงการวิทยุชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
 
ในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ได้รับลูกต่อจากนโยบายของรัฐด้วยการริเริ่มโครงการนำร่อง 2 โครงการประสานกันคือ โครงการนำร่องวิทยุชุมชนในจังหวัดทดลอง 19 จังหวัด และโครงการคนอปม. (การอบรมอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน) โดยหวังให้อาสาสมัครดังกล่าวได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงในรูปแบบของวิทยุชุมชน
 
สำหรับโครงการทดลองวิทยุชุมชนใน 19 จังหวัดนั้น แต่ละจังหวัดต่างก็มีรูปแบบและวิธีดำเนินงานที่แตกต่างกันไปตามสภาพความเป็นจริงของท้องถิ่น และได้มีบทเรียนอันหลากหลายจากการทดลองดังกล่าว เนื้อหาที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไปนี้ จึงถอดมาจากประสบการณ์การทำวิทยุชุมชนในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาประมาณ 4 – 5 ปีนี้ (พ.ศ. 2541 – 2545)
 
1.2 ปรัชญาและลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
ดังที่ได้เกริ่นมาแล้วว่า ความสนใจในเรื่องวิทยุชุมชนนั้น มีความเป็นมาเบื้องหลังคือการใช้ระบบการสื่อสารระบบหนึ่งเพื่อสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย แต่เมื่อจะใช้การสื่อสารสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ตัวการสื่อสารเองก็ต้องมีประชาธิปไตยเสียก่อน เนื่องจากหลักความจริงที่ว่า “ไม่มีใครให้อะไร ในสิ่งที่ตัวเองก็ไม่มีได้”
 
และจากประวัติศาสตร์ของระบบวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยที่ได้กล่าวมาข้างต้นเราก็ได้เห็นแล้วว่า วิทยุกระจายเสียงได้พัฒนามาจากขั้นตอนของการเป็น “สื่อของรัฐ/สื่อสาธารณะ/สื่อระดับชาติ” เข้ามาสู่การเป็น “สื่อธุรกิจ/สื่อเชิงพาณิชย์” และปัจจุบันก็เริ่มก้าวเข้าสู่พัฒนาการขั้นสุดท้ายคือการเป็น “สื่อชุมชน/สื่อท้องถิ่น”
 
เมื่อเรามุ่งหวังจะใช้วิทยุชุมชนให้เป็นเครื่องมือหรือหนทางสำคัญที่จะนำพาไปสู่สังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องทำความรู้จักกับเครื่องมือชิ้นนี้ให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ เสมือนการจะรู้จักใช้น้ำ/พลังน้ำให้เป็นประโยชน์ เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำอย่างละเอียด

วิทยุชุมชน

 
โดย / ของ / เพื่อชุมชน
เข้าถึงง่าย
ประชาชนมี
ส่วนร่วม
บริหารจัดการโดยชุมชน
ทำเพื่ออะไร
ไม่แสวงหากำไร
ดำเนินงานโดยคณะกรรมการ

‚ เอกลักษณ์
ใครเป็นคนจัด /
ใครเป็นคนฟัง
การบริหารจัดการ
ƒ
„
เนื้อหารายการ
รูปแบบรายการ
การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุง
ปรัชญาและลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
 

 

 
 
 
 
 
 

                        เป้าหมาย

 
1.2.1       ปรัชญาของวิทยุชุมชน
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ปรัชญาของวิทยุชุมชนก็คือการเลียนแบบคำขวัญของหลักการประชาธิปไตยที่ว่า เป็นวิทยุ “โดย” “ของ” “เพื่อ” ชุมชนนั่นเอง โดยในที่นี้จะขอเน้นเรื่องลำดับชั้นของคำทั้งสามว่า จะต้องเริ่มต้นที่ “โดย” เสียก่อน กล่าวคือต้องให้ประชาชนเข้ามาดำเนินงานวิทยุชุมชน ต่อจากนั้นประชาชนจึงจะเกิดความรู้สึกเป็น “เจ้าของ” และในท้ายที่สุดเนื้อหารายการของวิทยุชุมชนก็จะเป็นไป “เพื่อ” ผลประโยชน์ของชุมชน วิทยุชุมชนจึงไม่ใช่วิทยุที่มีคนอื่นไปทำเพื่อชุมชน แต่เป็นวิทยุที่ชุมชนทำเองเพื่อตนเอง
 
จากหลักปรัชญาของวิทยุชุมชน องค์การยูเนสโกจึงได้วางเสาหลัก 3 ต้นของวิทยุชุมชนเอาไว้ดังนี้คือ
(1)   ต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย (accessibility) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงในแง่ผู้ฟัง ผู้ร่วมผลิตรายการ ผู้ให้ข้อเสนอแนะ ผู้บริหารจัดการ ฯลฯ
(2)   ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ (participation)
(3)   ต้องเป็นวิทยุที่ประชาชนมีการบริหารจัดการด้วยตนเอง (self-management) คือ แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการ “โดย” ชุมชนที่กล่าวไปข้างต้น
(ในที่นี้จะพูดถึงเพียงคร่าว ๆ เป็นการเกริ่นนำ และจะดูรายละเอียดในหัวข้อต่อ ๆ ไป)
 
1.2.2       ลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
จากหลักปรัชญาข้างต้นสามารถสกัดลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชนออกมาได้เป็น 6 ลักษณะดังนี้
(1)             ทำวิทยุไปเพื่ออะไรและเพื่อใครบ้าง เป็นคำถามเรื่องเป้าหมายที่คณะผู้ทำวิทยุชุมชนจะต้องปักเอาไว้เป็นธงชัยนำทาง ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเป้าหมายสูงสุดของวิทยุชุมชนคือ ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น เช่นถ้าคนในจังหวัดจันทบุรีทำสวนผลไม้ เนื้อหาความรู้ของวิทยุชุมชนจังหวัดจันทบุรีก็จะต้องเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการทำสวนผลไม้ ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะผลิตเนื้อหารายการวิทยุจะต้องมีการสำรวจความต้องการของคนในท้องถิ่นเสียก่อนเป็นอันดับแรก
และเนื่องจากในแต่ละชุมชนประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม หลายเพศ หลายวัย หลายอาชีพ ฯลฯ ดังนั้น วิทยุชุมชนจึงต้องมีหลักประกันและมาตรการว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มได้ เช่นการมีตัวแทนของคนทุกกลุ่มเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชน หรือเป็นอาสาสมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ด้อยโอกาสด้านการสื่อสาร/กลุ่มที่ไม่มีปากมีเสียงในพื้นที่สาธารณะของวิทยุ เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเด็ก ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิด้านการสื่อสาร ทั้งในแง่เป็นผู้รับข่าวสารและผู้ส่งข่าวสารผ่านวิทยุชุมชน
(2)             เอกลักษณ์ของวิทยุชุมชน ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าวิทยุชุมชนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างทั้งจากวิทยุสาธารณะและวิทยุธุรกิจที่เคยมีมาก่อน ในแง่ความแตกต่างจากวิทยุสาธารณะ วิทยุชุมชนจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เลือกตั้งมาจากตัวแทนกลุ่มของชุมชน มิใช่การแต่งตั้งแบบราชการ ส่วนวิธีดำเนินงานจะใช้การประชุมปรึกษาหารือแทนการสั่งการ
ส่วนความแตกต่างจากวิทยุธุรกิจก็คือ แม้ว่าวิทยุชุมชนจะต้องมีการแสวงหารายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายแต่เป้าหมายหลักของวิทยุชุมชนนั้นคือการไม่แสวงหาผลกำไรเช่นวิทยุธุรกิจ
(3)             ใครเป็นคนจัด/ใครเป็นคนฟัง ในขณะที่วิทยุกระจายเสียงทั่วไปมักจะมีที่ตั้งอยู่ในเมืองแล้วมีการถ่ายทอดข่าวสารเรื่องราวจากในเมืองไปสู่ชนบทเพียงทางเดียว โดยที่ผู้จัดรายการ ผู้ดำเนินรายการจะเป็นคนในเมือง คนฟังก็จะเป็นชาวบ้านในชนบท การแบ่งแยกบทบาทระหว่างคนจัดรายการวิทยุกับคนฟังจะเป็นไปอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ คนจัดก็ไม่เคยมาเป็นคนฟัง คนฟังก็ไม่เคยได้เข้าไปเป็นคนจัด
สำหรับภาพของวิทยุชุมชนจะแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คือ
·      ทั้งฝ่ายคนจัดและคนฟังล้วนเป็นคนในชุมชนทั้งสิ้น ผู้จัดรายการ/วิทยากร/แขกรับเชิญในวิทยุอาจจะเป็นกำนันหรืออาสาสมัครหรือชาวบ้านคนใดคนหนึ่งของชุมชน
·      การเล่นบทบาทเป็นคนจัดรายการและผู้ฟังจะผลัดเปลี่ยนกัน เป็นการผลัดกันพูดผลัดกันฟังที่เรียกว่าเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (มิใช่เป็นแบบรถเดินทางเดียว)
·      แม้แต่การเล่นเป็นบทบาทผู้ฟัง ชาวบ้านก็จะไม่เป็นเพียงผู้ฟังที่ฟังแล้วเงียบ ๆ เฉย ๆ แต่ผู้ฟังสามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการวิทยุได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์เข้าไปในรายการขณะมีการสัมภาษณ์ เขียนจดหมายไปติชมรายการ ฯลฯ
(4)             บริหารจัดการอย่างไร/แบบไหน/โดยใคร ในปัจจุบันเราอาจจะรับฟังรายการวิทยุจำนวนมากที่ใช้ชื่อว่า รายการวิทยุชุมชนบ้าง หรือเป็นรายการที่ให้บริการข่าวสารแก่ชุมชน รายการที่เปิดให้มีประชาชนร้องทุกข์เข้าไปได้ ฯลฯ ถึงแม้รายการเหล่านี้จะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับวิทยุชุมชน แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ววิทยุดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแค่วิทยุ “เพื่อ” ชุมชน แต่ยังไม่ใช่วิทยุ “โดย” ชุมชน
นี่ก็หมายความว่าหัวใจสำคัญหัวหนึ่งของการเป็นวิทยุชุมชนจะต้องมี “การบริหารจัดการโดยชุมชน” โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
·      เป็นรูปแบบบริหารจัดการโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลาย ๆ ฝ่าย เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ แต่ที่สำคัญและเป็นหลักก็คือ ตัวแทนของชุมชนที่มาจากกลุ่มบุคคลในชุมชนดังที่กล่าวมาแล้ว
·      คณะกรรมการต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ต้องปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำของรัฐ นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มธุรกิจ ฯลฯ
·      มีรูปแบบการดำเนินงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
·      มีการทำงานที่มีการวางแผนงาน มีมาตรการดำเนินงาน มีลักษณะที่โปร่งใส สามารถเปิดให้ตรวจสอบได้ และมีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจนแน่นอน
(5)             เนื้อหา/รูปแบบรายการเป็นแบบไหน ลักษณะสำคัญของเนื้อหา รูปแบบรายการของวิทยุชุมชนจะเป็นมาตรวัดว่าวิทยุชุมชนนั้นได้ทำหน้าที่ตามสมญานามหรือไม่ คือ
·      เป็นเนื้อหา/รูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง
·      มีเนื้อหา/รูปแบบที่หลากหลาย ครอบคลุมความสนใจ ความต้องการและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของชุมชนที่มีหลากหลายมิติ เช่น เรื่องการทำมาหากิน การอยู่ร่วมกัน การปกครอง ศิลปวัฒนธรรม มรดกด้านภูมิปัญญาของชุมชน ส่งเสริมศีลธรรมศาสนา การพักผ่อนความบันเทิงและการละเล่น ประเพณีพิธีกรรม ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน
·      เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของชุมชน ดังนั้นเนื้อหา/วิธีการนำเสนอ/และรูปแบบรายการจึงควรให้สิทธิแก่ชุมชนในการดำเนินการให้สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมหรือรสนิยมของชุมชน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการใช้ภาษาท้องถิ่น ดังนั้นเนื้อหาและรูปแบบรายการของวิทยุชุมชนในแต่ละที่จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสูตรเดียวกันทั่วประเทศ
นอกจากนั้นลักษณะของเนื้อหาและรูปแบบของรายการจะต้องส่งเสริมการสื่อสารในแนวนอนคือ การสื่อสารระหว่างประชาชนกับประชาชนมากกว่าจะเป็นการสื่อสารในแนวดิ่งจากรัฐบาลสู่ประชาชนเท่านั้น
(6)             มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง การประเมินผลมักจะเป็นจุดอ่อนของการทำงานในระบบวิทยุสาธารณะ ส่วนระบบวิทยุธุรกิจนั้นก็จะเป็นเพียงการประเมินปริมาณของผู้ฟังเพื่อการขายโฆษณาเท่านั้น
แต่การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจห้องที่สองของการทำวิทยุชุมชนที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างจะขาดเสียมิได้ เป้าหมายและแง่มุมที่จะประเมินนั้น ต้องมีหลากหลายมากกว่าการประเมินปริมาณผู้ฟังเท่านั้น โดยที่การประเมินนั้นจะเป็นทั้งการ “เหลียวไปข้างหลัง” เพื่อดูว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้นบรรลุหรือไม่และเป็นทั้งการ “แลไปข้างหน้า” เพื่อแสวงหาแนวทางพัฒนาวิทยุชุมชนต่อ
 
1.2.3       ระดับของการเป็นวิทยุชุมชน
เนื่องจากปรัชญาและลักษณะของวิทยุชุมชนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นรูปแบบสูงสุดของวิทยุชุมชน แต่ทว่าในสภาพความเป็นจริงการเป็นวิทยุชุมชนคงต้องเริ่มไต่ระดับจากวิทยุที่กำลังมีอยู่อย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว อาจารย์จุมพล รอดคำดี ได้นำเสนอระดับจากแบบอ่อน ๆ ไปเป็นแบบเข้มข้นของการเป็นวิทยุชุมชนดังนี้
(1)             ระดับรายการ “เพื่อชุมชน” ที่มีผู้จัด/เจ้าของรายการ/เจ้าของสถานีเป็นผู้อื่น แต่จัดรายการเพื่อบริการชุมชน เช่น ประกาศของหาย ประชาสัมพันธ์งานของชุมชน ฯลฯ โดยประชาชนหรือผู้ฟังอาจจะส่งจดหมายหรือโทรศัพท์มาบอก แต่ผู้จัดรายการจะเป็นผู้เลือกเนื้อหาและพูดด้วยตนเอง วิทยุชุมชนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนี้ของไทยจัดอยู่ในระดับนี้
(2)             ระดับที่มีประชาชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมรายการ เช่นรายการของจส.100 หรือสวพ.91 รายการร่วมด้วยช่วยกันของ INN เป็นต้น โดยทางสถานีจะเป็นผู้กำหนดกรอบให้ แล้วให้ประชาชนเป็นผู้นำเสนอเนื้อหาและพูดนำเสนอในรายการ (สภาพจราจร แจ้งของหาย เหตุร้าย) แต่สถานี/ผู้จัดรายการยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของรายการอยู่
(3)             ระดับ “รายการโดยชุมชน” ได้แก่รูปแบบที่เจ้าของสถานีแบ่งช่วงเวลารายการใดรายการหนึ่งให้ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกขึ้นมาในรูปของ “คณะกรรมการวิทยุชุมชน” มาจัดเนื้อหาและวิธีการนำเสนอด้วยตัวเอง โดยทางสถานีจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา บรรดาโครงการนำร่องของกรมประชาสัมพันธ์จะจัดเป็นวิทยุชุมชนในระดับนี้
(4)             ระดับสถานี ในระดับนี้จะอาศัยอาสาสมัครที่เป็นตัวแทนประชาชนเข้ามาปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ ในสถานี และบริหารรายการทั้งหมด แต่สถานียังเป็นของหน่วยงานของรัฐ
(5)             ระดับชุมชนเป็นเจ้าของสถานี ในระดับนี้ ประชาชนในชุมชนจะรวมตัวกันขึ้นขอคลื่นความถี่จากรัฐ และลงทุนจัดตั้งสถานีวิทยุเป็นของชุมชน แต่ทว่าชุมชนจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิทยุชุมชนที่อาจจะว่าจ้างพนักงาน ผู้จัดการมืออาชีพ อาสาสมัคร ให้เข้ามาดำเนินงานตามแนวนโยบายของคณะกรรมการ
(6)             ระดับชุมชนเป็นเจ้าของสถานีและมีใบอนุญาตเป็นเจ้าของคลื่น ในระดับนี้ก็จะเหมือนกับระดับที่ 5 เพียงแต่การดำเนินงานของสถานีในทุกระดับจะเป็นอาสาสมัครจากชุมชนที่ได้รับการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งเท่ากับชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในวิทยุมากกว่าเพียงแค่ระดับ “เป็นเจ้าของ” (ownership) หากแต่เป็นระดับ “ปฏิบัติการ” ด้วย (operation)
การแบ่งระดับทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพความก้าวหน้าของวิทยุชุมชนที่สังคมไทยควรจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น
 
1.3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนในประเทศไทย
เนื่องจากวิทยุเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมาย สำหรับวิทยุชุมชนในปัจจุบันนั้น เป็นแนวคิดที่เกิดจากการปฏิรูปทางการเมืองของไทยที่มีจุดเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จนกระทั่งถึงการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในกฎหมายฉบับนี้มีมาตราที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยุชุมชนอยู่ 3 มาตราคือ มาตรา 39, 40 และ 41 และมีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมเช่น มาตรา 37, มาตรา 58, 59, 60
 
(ก) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนโดยตรง ได้แก่มาตราที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่คือ
มาตรา 40 มีข้อความสำคัญ 3 ข้อคือ
(1)   คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(2)   ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(3)   การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
 
จากข้อความในทั้ง 3 วรรคนี้ จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากเดิม คือ เรื่องการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ซึ่งแต่เดิม “รัฐหรือรัฐบาล” เคยเป็นเจ้าของ ในมาตรา 40 นี้ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า คลื่นความถี่นั้นเป็น “ของชาติ” ซึ่งหมายความว่าเป็นของประชาชนทุกคนนั่นเอง และยังกำหนดเป้าหมายของการใช้คลื่นความถี่เอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้ก้คือเงื่อนไขเอื้ออำนวยของการถือกำเนิดของวิทยุท้องถิ่นนี่เอง
 
ทั้งเนื่องจากวรรค 2 ของมาตรานี้ ทำให้เกิดพระราชบัญญัติ (พรบ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ (ที่รู้จักกันในนามย่อว่า กสช.) และกิจการโทรคมนาคม (หรือ กทช.) ในปี พ.ศ. 2543 ในพรบ.นี้มีมาตราที่สำคัญและชี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ มาตรา 26 วรรค 4 บัญญัติไว้ว่า
“การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ” ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องกันพื้นที่เอาไว้ 20% ให้เป็นวิทยุชุมชนที่ประชาชนเป็นเจ้าของคลื่นเอง เป็นเจ้าของสถานีเอง และเข้ามาดำเนินการเอง
 
มาตรา 39 ซึ่งเป็นกฎหมายที่รับรองเสรีภาพในการสื่อสาร มีข้อความสำคัญ 5 วรรค คือ
(1)      บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น (ในมาตรานี้หมายความว่า ประชาชนมีสิทธิทั้งจะเป็นผู้รับสารและผู้ส่งข่าวสารได้)
(2)      การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
(3)      การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อริดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำไม่ได้
(4)      การให้นำข่าวหรือรายงานไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนจะไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง
(5)      เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(6)      การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้
 
มาตรา 41 เป็นกฎหมายที่รับรองเสรีภาพของพนักงาน ลูกจ้างในกิจการสื่อมวลชนของรัฐและเอกชน อันมีข้อความสำคัญดังนี้
(1)     พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ผิดจรรยาบรรณแห่งการประกอบอาชีพ
(2)     ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง
 
(ข) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนโดยทางอ้อม
นอกเหนือจากกฎหมายทั้ง 3 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่น เสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนและเสรีภาพของผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารแล้ว ยังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับการทำงานวิทยุชุมชน อันได้แก่
 
มาตรา 37 ได้รับรองให้บุคคลที่มีเสรีพภาพในการสื่อสารถึงกันได้โดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย ในทางปฏิบัติ หมายความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะส่งข่าวสารเพื่อเผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ทั้งในและนอกชุมชนได้รู้โดยผ่านวิทยุชุมชนหรือสื่อมวลชนอื่นๆ
 
มาตรา 58 ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการรับทราบข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มาตรานี้ช่วยให้ประชาชนสามารถแสวงหาขาวสารสาธารณะที่เป็นของหน่วยราชการ เช่น งบประมาณพัฒนาตำบล แผนการสร้างสาธารณูปโภคของชุมชนได้
 
มาตรา 59 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ ฯลฯ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่น ๆ และสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคม กฎหมายข้อนี้ ทำให้ประชาชนมีสิทธิที่จะขอให้หน่วยราชการหรือธุรกิจเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ชุมชนที่เรารู้จักกันในนามของ “การทำประชาพิจารณ์” ในกรณีที่จะมีการก่อสร้างท่อก๊าซ โรงงานพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ และอื่น ๆ
 
มาตรา 60 ซึ่งได้รับรองสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางการปกครองที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ
 
1.4 บทบาทหน้าที่และประโยชน์ของวิทยุชุมชน
จากผลงานวิจัยวิทยุชุมชนที่เป็นโครงการนำร่องของกรมประชาสัมพันธ์ในเขตจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ โดยอาจารย์วีรพงษ์ พลนิกรกิจและคณะ (2545) ซึ่งได้วิเคราะห์ตัวเนื้อหารายการ และได้พบว่า วิทยุชุมชนที่มีสถานภาพเพียงแต่ระดับรายการ (ระดับที่ 3) เท่านั้น ก็ยังสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย โดยสามารถเล่นทั้งบทบาทเดิม ที่วิทยุทั่วไปเคยแสดง และการเพิ่มเติมบทบาทใหม่ ๆที่วิทยุทั่วไปไม่สามารถจะแสดงได้
 
จากบทบาทที่หลากหลาย ในที่นี้จะแบ่งประเภทบทบาทโดยใช้เกณฑ์ 2 เกณฑ์คือ ทิศทางของการไหลของข่าวสาร (Information Flow) และบทบาทในการพัฒนาชุมชน
 
 
 

1.1.1

จากบนลงล่าง
 
1.1.2
จากล่างขึ้นบน
1.1
แนวดิ่ง
1
ทิศทางการไหลของข่าวสาร
1.2
แนวนอน
 
บทบาท/หน้าที่ของวิทยุชุมชน
2
บทบาทการพัฒนาชุมชน
ด้านเศรษฐกิจ
ด้านการเมือง
ด้านสังคม
ความปลอดภัย
ด้านวัฒนธรรม/ศาสนา/ประเพณี
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

1.4.1       การแสดงบทบาทของวิทยุชุมชนตามทิศทางการไหลของข่าวสาร
แบ่งได้เป็น2ทิศทางคือ
(1.1) ในแนวดิ่ง
(1.1.1)การไหลของข่าวสารจากบนลงล่าง (top-down flow) มักเป็นบทบาทเดิมที่วิทยุสาธารณะ/วิทยุส่วนกลาง/วิทยุแห่งชาติแสดงอยู่ คือ
·      บทบาทเป็นเครื่องมือถ่ายทอดข่าวสารของหน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือหน่วยงานท้องถิ่นสู่ประชาชน
·      บทบาทในการแจ้งข้อมูลข่าวสารทั่วไป เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม
·      บทบาทในการให้การศึกษา/ให้ความรู้จากหน่วยงาน – สถาบันการศึกษา
·      บทบาทในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองระดับชาติ เช่น การให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง
·      บทบาทในการธำรงรักษาวัฒนธรรมหลักของสังคม เช่น ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
(1.1.2.)การไหลของข่าวสารจากล่างขึ้นบน (bottom-up flow) เป็นทิศทางการไหลที่ตรงกันข้ามกับบทบาทเดิมที่วิทยุเคยแสดงอยู่ เช่น
·      บทบาทในการเป็นช่องทางการร้องเรียนและสอบถามข้อมูล เช่น ที่เราอาจคุ้นเคยในรายการ “ร้องทุกข์ชาวบ้าน” ของสถานีโทรทัศน์
·      บทบาทในการเป็นช่องทางติดตามตรวจสอบปัญหาของประชาชน ในขณะที่บทบาทแรกที่กล่าวถึงนั้นเป็นเพียงครึ่งทางเท่านั้น ซึ่งหากมีปรากฏการณ์ว่า “ ร้องเรียนแล้ว แต่ก็เงียบหายไป หรือไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น” การร้องเรียนที่เป็นหมันย่อมทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายต่อการส่งข่าวสารจากล่างขึ้นบน เพื่อให้แก้ปัญหามีลักษณะครบวงจร วิทยุชุมชนจะต้องแสดงบทบาทในการติดตามตรวจสอบการแก้ปัญหาไปจนสุดเส้นทาง
·      การนำเสนออัตลักษณ์ ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของชุมชนออกสู่โลกภายนอก เช่น บรรดารายการ “ของดีบ้านเฮา” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ทั้งหลาย
(1.2)ในแนวนอน การเล่นบทบาทเป็นช่องทางให้มีการติดต่อสื่อสารในแนวนอน ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกันเองนั้น ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของวิทยุชุมชนทีเดียว การแสดงบทบาทในเชิงแนวนอนมีกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น
·      การเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับประชาชนกันเอง เช่น เป็นจุดนัดพบระหว่างชาวบ้านที่เป็นวิทยากรกับเป็นผู้ฟังที่สนใจ
·      บทบาทในการเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ทั้งความคิดเห็นต่อเรื่องราวทั่ว ๆ ไป (เช่น เพศที่สาม รักในวัยเรียน ฯลฯ) และความคิดเห็นต่อปัญหาของชุมชน รวมทั้งเป็นพื้นที่รวบรวมข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาอันเป็นไปตามหลักการที่ว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว”
·      เป็นจุดประสานความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน ในประเพณีดั้งเดิมของไทยมีคำว่า “พริกอยู่บ้านเหนือ” เกลืออยู่บ้านใต้ หัวตะไคร้อยู่บ้านเพื่อน” อันหมายความถึงการช่วยเหลือเอื้ออาทรระหว่างชุมชนเมื่อเกิดเหตุเพทภัยกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งในปัจจุบันนี้นี้วิทยุชุมชนจะสามารถแสดงบทบาทเป็นตัวต่อสายความช่วยเหลือให้ได้ถึงกันได้
 
1.4.2       การแสดงบทบาทในการพัฒนาชุมชน
ในกระแสการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในปัจจุบันนี้ วิทยุชุมชนสามารถจะเป็นพลังสำคัญพลังหนึ่งในการเข้าร่วมกับการพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ ดังนี้
(1)   บทบาทในการเสริมพลังทางเศรษฐกิจ เช่น การเผยแพร่สินค้าของชุมชน การแนะนำอาชีพ ฯลฯ
(2)   บทบาทในการติดตาม/จับตาดู/วิพากษ์วิจารณ์การเมืองระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบแนวทาง/นโยบาย/การปฏิบัติงานของการเมืองในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
(3)   บทบาทในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแสดงโคราช ลิเก ประเพณีแข่งเรือ ฯลฯ
(4)   บทบาทในการขัดเกลาทางสังคม เช่น การส่งเสริมค่านิยมเรื่องความขยันขันแข็ง รักถิ่นกำเนิด รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
(5)   บทบาทในการระดมความร่วมมือ (Mobilization) เช่น ในช่วงเวลาที่ต้องการการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ป้องกันพิษสุนัขบ้า โรคเอดส์ ฯลฯ
(6)   บทบาทในการเตือนภัย วิทยุชุมชนสามารถทำหน้าที่เป็นยามป้องกันชุมชนให้รู้ตัวล่วงหน้าจากภัยอันตรายต่าง ๆ การที่วิทยุชุมชนจะแสดงบทบาทนี้ได้ ก็ต้องหมายความว่า แม้ว่าเนื้อหาของวิทยุชุมชนจะเป็นเรื่องราวในชุมชน แต่ผู้รับผิดชอบวิทยุชุมชนก็ต้องเปิดตัวเปิดรับข่าวสารจากโลกภายนอกเพื่อจะได้เป็น “แถวหน้าของการรับรู้ข่าวสาร” และนำมาบอกต่อให้แก่ชุมชน เช่น ภัยจากน้ำท่วม ไฟป่า โรคระบาด ฯลฯ
(7)   บทบาทในการประสานความสามัคคี (integration) หรือเป็นสื่อกลางในการจัดการกับความขัดแย้ง แน่นอนว่า ในทุกชุมชนย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งที่มาจากภายในชุมชนเอง หรือความขัดแย้งที่เกิดมาจากภายนอก ในท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว วิทยุชุมชนอาจจะเล่นบทเป็น “พื้นที่เจรจา” ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเจรจาตกลงต่อรองกัน
(8)   บทบาทในการสร้างบุคลิกภาพแบบใหม่ให้แก่คนในชุมชน เมื่อวิทยุชุมชนได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้เข้ามามีปากมีเสียงในพื้นที่สาธารณะ ก็เท่ากับว่าวิทยุชุมชนได้เป็นเวทีสำหรับฝึกซ้อมให้ประชาชนรู้จักแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ
สำหรับบทบาทที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะสามารถใช้เป็นกรอบเพื่อประเมินความก้าวหน้าของวิทยุชุมชน กล่าวคือ ยิ่งนับวันสัดส่วนของการแสดงบทบาทเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารในแนวนอนควรจะมีมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของการสื่อสารจากบนลงล่างควรจะลดลง จึงจะหมายความว่า วิทยุชุมชนได้ทำหน้าที่เข้าใกล้กับโฉมหน้าที่แท้จริงของวิทยุชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
1.4.3       ประโยชน์ของวิทยุชุมชน
จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับวิทยุชุมชนจากงานวิจัยเรื่องวิทยุชมชนหลายต่อหลายชิ้น พอจะประมวลประโยชน์ของวิทยุชุมชนจากทัศนะของชาวบ้านได้ดังนี้ เช่น
(1)   วิทยุชุมชนให้โอกาสประชาชนได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นผ่านที่สาธารณะ ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด
(2)   ช่วยให้ประชาชนได้รับทราบข่าวที่ต้องการทราบ
(3)   ช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับรัฐบาล (จากแต่เดิมที่รับฟังรัฐบาลอยู่ฝ่ายเดียว) โดยเฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนการแก้ปัญหาชุมชน เพราะชาวบ้านจะรู้เรื่องของชุมชนดีกว่ารัฐบาล
(4)   ชาวบ้านสามารถใช้วิทยุชุมชนติดตามและตรวจสอบการทำงานสาธารณะได้
(5)   ชาวบ้านสามารถใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน สุขภาพอนามัย วัฒนธรรมศีลธรรม การปกครอง สิ่งแวดล้ม ฯลฯ
(6)   เนื่องจากวิทยุชุมชนได้นำเอาเรื่องราวที่เป็นความภาคภูมิใจ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านไปเล่าสู่กันฟัง ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตัวเอง และมีความมั่นใจในตนเอง
(7)   วิทยุชุมชนเป็นช่องทางให้ชาวบ้านได้แสดงความต้องการให้โลกภายนอกได้รับรู้
เป็นต้น
 
1.5     หลักการดำเนินงานที่ดีของวิทยุชุมชน
เพื่อให้วิทยุชุมชนได้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง การดำเนินงานวิทยุชุมชนจำเป็นต้องเป็นไปตามหลักการที่แท้จริงและถูกต้องของการทำงานวิทยุชุมชน ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักการสำคัญ ๆ ของการดำเนินงานวิทยุชุมชน 4 หลักการคือ
1.5.1 โครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชน
1.5.2 คณะกรรมการดำเนินงาน
1.5.3 การบริหารจัดการ
1.5.4 หลักการผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการ

โครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชน

 
คณะกรรมการดำเนินงาน
การบริหารจัดการ
การผลิตเนื้อหา และรูปแบบรายการ
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

1.5.1    โครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชน
หากเปรียบเทียบว่าการดำเนินงานของวิทยุชุมชนเป็นเสมือนการก่อสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง ความแข็งแรงทนทานของบ้านหลังหนึ่ง ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวบ้าน อันได้แก่การตอกเสาและการปรับสภาพพื้นดิน ในปีนี้ จึงขอเสนอโครงสร้างที่เหมาะสมที่จะค้ำจุนให้งานวิทยุชุมชนมีความเข้มแข็งดังนี้
 
 
 

1. คณะกรรมการ

 
เป็นใคร
ได้มาอย่างไร
การจูนความเข้าใจให้ตรงกัน
 
โครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชน
2. กรอบการทำงาน
3. ระเบียบกฎเกณฑ์
7. ความตื่นตัวด้านสิทธิในการสื่อสารของประชาชน
6. แหล่งข้อมูล/ฐานข้อมูล
5. ความพร้อมด้านเทคนิค/อุปกรณ์
4. มาตรการสำหรับความมั่นคง/ต่อเนื่อง
การจัดสรรเวลา
งบประมาณ
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(ก)             ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของโครงสร้างที่เหมาะสมของวิทยุชุมชนนี้ ขอย้อนกลับไปถึงเรื่องระดับของวิทยุชุมชนที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า “วันนี้ วิทยุชุมชนของไทยเรากำลังอยู่ที่ตรงไหน และพรุ่งนี้เราจะก้าวเดินขึ้นไปถึงตรงไหน”
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปัจจุบันนี้ วิทยุชุมชนของไทยยังอยู่เพียงแต่ระดับเตาะแตะเพิ่งเริ่มตั้งไข่ คือเป็นวิทยุชุมชนระดับที่หน่วยงานรัฐให้เวลาบางช่วงมาจัดทำรายการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องถือว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกซ้อมของประชาชน ซึ่งควรจะเรียนรู้ให้มากที่สุด และทุกรายการควรจะมีการวางแผนงานเพื่อการเติบโตไปเป็นสถานีของชุมชนเอง
สำหรับในอนาคตหากรายการวิทยุชุมชนรายการใดมีความพร้อม ก็น่าจะแปรความใฝ่ฝันให้กลายเป็นจริงด้วยการยกระดับการเป็นวิทยุชุมชนที่ชุมชนเป็นเจ้าของสถานี ซึ่งผลจากการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอนาคตเอาไว้ดังนี้
·      ที่ตั้งของสถานี ในอนาคตควรกระจายไปอยู่ระดับอำเภอ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและมีส่วนร่วมของประชาชน
·      ขนาดของสถานี ควรเป็นองค์กรขนาดเล็ก เพื่อให้มีความคล่องตัว
·      เนื่องจากธรรมชาติของงานวิทยุ เป็นงานที่ต้องทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ต้องทำทุกวัน ดังนั้น จึงควรมีระบบบุคลากร 2 ระบบ คือ พนักงานประจำและอาสาสมัคร เพื่อให้มีทั้งความต่อเนื่องและการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะจำนวนอาสาสมัครนั้นต้องเปิดกว้างให้มากที่สุด
 
(ข)             สำหรับโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับวิทยุชุมชนที่จะนำเสนอในที่นี้นั้น จะยังคงเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับ “วิทยุชุมชนของวันนี้” เท่านั้น คือเป็นวิทยุชุมชนในระดับรายการที่หน่วยงานรัฐ/เจ้าสถานีให้เวลามาจัดทำเท่านั้น
 
(1)   องค์ประกอบของคณะทำงานวิทยุชุมชน
(1.1)        ใครควรเป็นคณะทำงาน
จากธรรมชาติของงานวิทยุที่ได้กล่าวมาแล้ว โครงสร้างของการทำงานวิทยุชุมชนควรเป็นระบบบุคลากรคู่ขนานคือ มีคณะกรรมการวิทยุชุมชนที่ทำงานประจำ และมีอาสาสมัครที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งผลการวิจัยวิทยุชุมชนที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้พิสูจน์แล้วว่า ระบบบุคลากรคู่ขนานดังกล่าวสามารถทำให้การจัดรายการวิทยุชุมชนได้เกือบตลอดทั้งวันและจัดทุกวันมีความเป็นไปได้จริง
(ดูรายละเอียดเรื่องอาสาสมัครในกรณีศึกษาของวิทยุชุมชนบุรีรัมย์)

คณะกรรมการบริหาร

 
อาสาสมัคร
 

 

 
 
 
 

หลักเกณฑ์ที่พึงพิจารณาในการคัดเลือกคณะทำงานวิทยุชุมชนควรมีดังนี้
· ภูมิหลังของคนทำงานควรมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อเริ่มมีวิทยุชุมชนใหม่ ๆ โดยอาจจะประกอบด้วยตัวแทนจากชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านวิทยุ นักวิชาการ ช่างเทคนิค ฯลฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานแบบหนุนช่วยกัน
· แต่ในท่ามกลางกลุ่มบุคคลที่หลากหลายนี้ ควรให้มีจำนวนของตัวแทนจากชุมชนเป็นสัดส่วนหลัก    และมีการกำหนดวาระหมุนเวียนที่แน่นอนเอาไว้ เช่น มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 – 3 ปี เป็นต้น
(1.2)        วิธีการได้มาซึ่งคณะทำงาน
ในขณะที่ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานรัฐนั้น มักจะใช้วิธีการ “แต่งตั้ง” ข้าราชการมาปฏิบัติงานตามความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชา แต่สำหรับวิธีการได้มาซึ่งคณะทำงานจากภาคประชาชนนั้น ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป คือต้องเป็น “วิธีการเลือกตั้ง” ตัวแทนจากชุมชน
จากประสบการณ์ของวิทยุชุมชนบุรีรัมย์ได้แสดงให้เห็นว่า ตัวแทนของชุมชนที่จะเอามาเป็นคณะทำงานวิทยุชุมชนนั้น ควรมาจากกลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจสนใจทำงานส่วนรวม มีความสนใจในเรื่องข่าวสาร และหากได้ผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมด้านการเผยแพร่ข่าวสารก็จะยิ่งดี รวมทั้งเป็นผู้ที่มีเวลาที่จะอุทิศตนเองเพื่อส่วนรวม กลุ่มคณะทำงานนี้อาจจะเป็นหรือไม่เป็นผู้นำชุมชนอยู่แล้วก็ได้
(1.3)        กระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องวิทยุชุมชน
ในขณะที่การคัดเลือกคณะทำงานที่มีภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลายกัน จะทำให้เกิดการหนุนช่วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความแตกต่างนั้นก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะความแตกต่างทางความคิดและความเข้าใจ และเมื่อคำนึงถึงว่า เรื่องวิทยุชุมชนเป็นเรื่องแปลกใหม่ ก็ยิ่งน่าจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือเข้าใจกันไปคนละทิศละทาง ดังที่มีผลการวิจัยรายงานอยู่เสมอว่า ในส่วนข้าราชการเองก็ยังมีความไม่เข้าใจว่า วิทยุชุมชนคืออะไร และเกรงไปว่า ชาวบ้านจะมาใช้วิทยุไปอย่างผิดแนวทางการพูดในที่สาธารณะ ทางฝ่ายชาวบ้านเองก็อาจจะถูกครอบงำจากกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น จึงต้องมีกลไกแก้ไขเรื่องความเข้าใจที่แตกต่างกัน
สำหรับกลไกที่จะช่วยให้มีการแก้ไขความแตกต่างและสร้างความเข้าใจร่วมกันมีอยู่หลายวิธี เช่น การฝึกอบรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง การจัดประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ การสรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน เป็นต้น
 
 
 
(2)   การกำหนดกรอบการทำงาน
หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า การทำงานวิทยุชุมชนนั้นก็เหมือนกับการเล่นฟุตบอล ซึ่งจำเป็นต้องมีการลากเส้นขอบของสนามฟุตบอล มีการกำหนดจำนวนและตำแหน่ง
หน้าที่ของนักฟุตบอลและมีกฎกติกามารยาท
 
ดังนั้นกรอบการทำงานของคณะกรรมการวิทยุชุมชนจึงประกอบไปด้วย
·      การกำหนดขอบเขต ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการวิทยุชุมชนเอาไว้อย่างชัดเจน แน่นอน เป็นลายลักษณ์อักษร (เพื่อความต่อเนื่องในกรณีมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการ) ตัวอย่างเช่น บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชน จ.เชียงใหม่มีดังนี้
(1)   รับนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการมาปฏิบัติ
(2)   วางแผนและประสานความร่วมมือให้เป็นไปตามนโยบาย
(3)   กำกับดูแลให้ดำเนินงานตามแผน
(4)   แต่งตั้งและถอดถอนคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ ได้
(5)   มีการประชุมคณะกรรมการบริหารงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ผู้เข้าร่วม
ประชุมต้องมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงถือว่าครบองค์ประชุม
(6)   รายงานผลต่อคณะกรรมการอำนวยการทุก 3 เดือน
·      มีการแบ่งงานกันทำว่ามีตำแหน่งหน้าที่อะไรบ้าง ลักษณะงานของแต่ละ
ตำแหน่ง(Job description)
·      มีการวางแผนการทำงานที่แน่นอน มีการระบุเป้าหมายย่อยของแต่ละแผน กิจกรรม ผู้รับผิดชอบ วิธีการดำเนินการ การติดตามและประเมินผล การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงาน
·      รูปแบบการทำงานนั้น ต้องปรับเปลี่ยนจากวิธีการ “แบบราชการ” มาเป็น “แบบประชาชน” คือไม่ใช่การสั่งการ แต่ใช้การประชุม/เจรจา/ต่อรอง/หาเหตุผลมาหักร้างกันจนได้ข้อสรุป
·      ต้องมีการวางมาตรการว่า การทำงานของคณะกรรมการฯ จะเป็นไปได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง/ครอบงำจากธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์
 
 
 
(3)   การวางระเบียบกฎเกณฑ์
เนื่องจากวิทยุชุมชนมีทั้งส่วนที่เป็นรอยต่อมาจากวิธีการทำงานวิทยุแบบรัฐ กับมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ดังนั้น จึงต้องมีร่างข้อตกลงสำหรับเป็นระเบียบร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน รวมทั้งต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบเดิมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานด้วย เช่น
·      ควรมีการร่างระเบียบที่แน่นอนเกี่ยวกับวาระการประชุมของคณะทำงาน เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การประชุมคณะกรรมการเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน และยังมีหน้าที่ข้างเคียงอีกหลายอย่าง เช่น เป็นการกลไกการจูนความเข้าใจของกรรมการให้เข้ามาหากัน
·      ควรมีระเบียบว่าด้วยวิธีการสรรหาคณะกรรมการ วาระและการสิ้นสภาพของคณะกรรมการ รวมทั้งค่าตอบแทนของคณะกรรมการ
·      ควรมีระเบียบเกี่ยวกับแหล่งรายได้ของวิทยุชุมชน เช่น การรับงานโฆษณา
 
(4)   มีมาตรการที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและความต่อเนื่องของวิทยุชุมชน
ผลการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า จุดอ่อนที่ทำให้งานวิทยุชุมชนหยุดชะงักหรือแคระแกรนไม่อาจเติบโตไปได้นั้น เป็นเพราะขาดมาตรการที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและความต่อเนื่องในส่วนที่เกี่ยวกับ 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ การจัดสรรเวลาและการจัดสรรงบประมาณ
·      การโยกย้ายรายการออกอากาศตลอดเวลา ส่งผลกระทบกับการเปิดรับฟังวิทยุชุมชนอย่างมาก กล่าวคือทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายและไม่ติดตามรับฟัง ดังนั้น ต้องมีระเบียบปฏิบัติในการจัดสรรเวลาที่แน่นอนแก่วิทยุชุมชน
·      การจัดสรรช่วงเวลาต้องให้สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของชุมชน ดังนั้น การเลือกช่วงเวลาควรเป็นผลมาจากการสำรวจความต้องการของผู้ฟัง
·      ควรมีการวางนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนของรายการวิทยุชุมชนให้มากขึ้นและหลากหลาย
·      ควรมีมาตรการหรือแผนงานที่จะแสวงหาแหล่งรายได้/งบประมาณสำหรับการทำวิทยุชุมชน (ดูรายละเอียดในหัวข้อ “การบริหารจัดการงบประมาณ”)
 
(5)   ความพร้อมด้านเทคนิคและอุปกรณ์
ความพร้อมด้านเทคนิคและอุปกรณ์นั้นมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือเทคนิคด้านการส่งวิทยุเพื่อให้มีผลการรับฟังที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงวิทยุชุมชนในฐานะผู้ฟัง (นี่เป็นหลักการพื้นฐานของวิทยุโดยทั่วไป)
อีกส่วนหนึ่งเป็นความพร้อมทางเทคนิคสำหรับวิทยุชุมชนโดยเฉพาะ เนื่องจากวิทยุชุมชนต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชนทั้งในฐานะผู้รับฟังที่สนใจและการมาเป็นผู้ร่วมรายการ/แขกรับเชิญ โดยเฉพาะการจัดรายการสด ดังนั้นอุปกรณ์พื้นฐาน เช่นโทรศัพท์ จึงต้องมีจำนวนมากพอที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ฟังโทรเข้ามามีส่วนร่วมในรายการได้ รวมทั้งมีไมโครโฟนและหูฟัง (headphone) ที่มีปริมาณมากเพียงพอและมีคุณภาพดี
นอกจากนั้น ก็ต้องมีอุปกรณ์และเทคนิคสำหรับการถ่ายทอดรายการในกรณีที่มีการจัดเวทีวิทยุสัญจรนอกสถานที่/ในชุมชน เช่นรถถ่ายทอด (OB Van)/หรือพวกเทปบันทึกเสียง เป็นต้น
นอกจากการฝึกอบรมอาสาสมัครให้เข้ามาเป็นผู้รายงานข่าวแล้ว ควรมีการจัดหาอุปกรณ์สำหรับการรายงานด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีการซ่อมแซมอย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดเสียขึ้นมา
 
(6)   ความพร้อมเรื่องการประสานงานกับแหล่งข้อมูลและฐานข้อมูล
เนื่องจากลักษณะการทำงานของวิทยุชุมชนนั้น มิใช่การพึ่งพาบรรดานักจัดรายการ/นักข่าวมืออาชีพกลุ่มเล็ก ๆ อีกต่อไป หากแต่เป็นรูปแบบการกระจาย (decentralize) ทั้งอาสาสมัครส่งข่าว ชาวบ้านที่เข้ามาเป็นนักจัดรายการ และชาวบ้านที่เข้ามาเป็นแขกรับเชิญ/วิทยากร/ผู้ร่วมสนทนา นอกจากนั้น เนื้อหาของรายการก็ยังต้องตอบสนองความต้องการของชุมชน
ดังนั้น โครงสร้างเชิงระบบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ะบบการจัดเก็บข้อมูล ทั้งที่เป็นข้อมูลเรื่องตัวบุคคลที่จะเป็นแหล่งข้อมูล เช่น มีการทำทะเบียนรายชื่อและวิธีติดต่อของอาสาสมัคร/ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น/วิทยากร/ผู้นำภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น และฐานข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะนำมาจัดรายการ
 
(7)   ปัจจัยด้านความตื่นตัวเรื่องสิทธิในการสื่อสารของประชาชน
เนื่องจากวิทยุชุมชนเป็นวิทยุที่จะต้องดำเนินการ “โดย” ประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องมีความเข้าใจใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของตนเองกับวิทยุ จากแต่เดิมที่ประชาชนเคยเป็นเพียง “ผู้ฟังเฉยๆ” แต่ในรูปแบบวิทยุชุมชนอย่างใหม่นี้ ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ “เจ้าของวิทยุชุมชน
ดังนั้น จึงต้องมีกลไกและกระบวนการต่าง ๆ ในการกระตุ้นให้ประชาชนมีความตื่นตัวในสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ซึ่งงานวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาได้แสวงหากลไกต่าง ๆ หลายรูปแบบ เช่น การจัดฝึกอบรมเรื่องสิทธิการสื่อสารและวิทยุชุมชนให้แก่อาสาสมัคร การจัดวิทยุชุมชนสัญจรตามชุมชนหรือศูนย์รวมของเมืองต่าง ๆ การจัดนิทรรศการสัญจร การประชาสัมพันธ์วิทยุชุมชนผ่านสื่อต่าง ๆ การจัดเวทีเสวนา เวทีประชาคม เป็นต้น
 
แน่นอนว่านอกเหนือจากโครงสร้างทั้ง 7 ประการที่กล่าวมานี้แล้ว ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ วิทยุชุมชนก็คงต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการ ทางเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ ความรู้ในการผลิตรายการ งบประมาณ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แกนกลางของวงล้อที่จะขับเคลื่อนนี้ก็คงต้องเป็นโครงสร้างภายในของวิทยุชุมชนเอง
 
1.5.2    คณะกรรมการดำเนินงาน
ปัจจุบันนี้ วิทยุชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทดลองแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ลงตัว ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคณะกรรมการฯ และการดำเนินงานนั้น จึงเป็นเพียงการถอดบทเรียนออกมาจากงานวิจัยวิทยุชุมชนในที่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมิใช่สูตรสำเร็จตายตัว อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปแน่นอนประการหนึ่งก็คือ คณะกรรมการดำเนินงานวิทยุชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการชี้ขาดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงานวิทยุชุมชน เนื่องจากเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งหมด

คณะกรรมการดำเนินงาน

 
1. จำนวนและขนาดของคณะกรรมการ
 
2. ภารกิจ/หน้าที่
 
3. วิธีการได้มา
4. คุณสมบัติของคณะกรรมการ
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(1)   จำนวนและขนาดของคณะกรรมการ
โดยทั่วไปแล้ว คณะกรรมการดำเนินงานของวิทยุชุมชนในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ มักจะมี 3 ชุด คือ
(ก)   คณะกรรมการบริหาร
(ข)   คณะกรรมการ/อนุกรรมการผลิตรายการ
(ค)   อาสาสมัคร
ตัวอย่างเช่น การจัดโครงสร้างคณะกรรมการของวิทยุชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ที่นับว่าเป็นรูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการบริหารรายการวิทยุชุมชน

 
ชมรมอาสาสมัครวิทยุชุมชน
คณะอนุกรรมการผลิตรายการ
ผลิตรายการ
ผู้ฟังเป้าหมาย
หน่วยราชการ/เอกชน/ฯลฯ
อาสาสมัครนักวิทยุชุมชนประจำหมู่บ้าน
หอกระจายข่าว
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

สำหรับจำนวนคนในคณะกรรมการแต่ละชุดนั้น ผลการวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า
·      คณะกรรมการบริหารนั้นไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 15 คน) เนื่องจากจะมีปัญหาในเรื่องการเรียกประชุมและความคล่องตัวในการทำงาน แต่ควรจะมีภูมิหลังที่หลากหลายและเป็นตัวของแทนของคนทุกกลุ่มดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
·      ส่วนคณะอนุกรรมการ/กรรมการการผลิตรายการก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป และควรแน่ใจว่า เป็นคนที่จะมีเวลาทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างแท้จริง
·      ส่วนอาสาสมัครนั้น สามารถมีจำนวนมากอย่างไม่จำกัด
(2)   การกำหนดภารกิจ/หน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุด
ควรมีการกำหนดภารกิจและหน้าที่ของคณะกรรมการ/อนุกรรมการแต่ละชุดเอาไว้ให้ชัดเจนแน่นอน เช่น
(ก)   คณะกรรมการบริหาร ควรมีขอบเขตความรับผิดชอบดังนี้ เช่น
·      กำหนดนโยบาย รูปแบบ และเนื้อหารายการ
·      วางแผนงานและดูแลให้มีการดำเนินงานไปตามแนวนโยบาย
·      สรรหาคณะกรรมการ/อนุกรรมการผลิตรายการ
·      เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการของคณะกรรมการผลิตรายการ
·      สนับสนุนการผลิตรายการ ทั้งในเรื่องงบประมาณ อุปกรณ์ และการขยายเครือข่าย
·      วิเคราะห์กลยุทธ์และมาตรการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงรายการ
·      นำเสนอแนวทางและวิธีการพัฒนาวิทยุชุมชนให้เป็นไปตามนโยบาย
ฯลฯ
(ข)   คณะกรรมการ/อนุกรรมการผลิตรายการ ควรมีขอบเขตรับผิดชอบดังนี้ เช่น
·      กำหนดช่วงเวลาออกอากาศและความยาวของรายการ
·      ผลิตและจัดทำรายการวิทยุชุมชนให้เป็นไปตามกรอบและแนวคิดที่คณะกรรมการบริหารกำหนดมาให้
·      ตัดสินใจในการเชิญบุคคลหรือองค์กรมาให้ข้อมูลหรือมาร่วมรายการได้ตามความเหมาะสม
·      ประสานกับแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน รวมทั้งประสานกับอาสาสมัคร
·      คัดเลือกประเด็นเนื้อหาและจัดหาเนื้อหามาเพื่อผลิตรายการ
·      ประชาสัมพันธ์รายการผ่านช่องต่าง ๆ เช่น จัดส่งข่าวสารเพื่อเผยแพร่ ถ่ายทอดเสียงผ่านทางหอกระจาย รวมทั้งค้นคิดกิจกรรมเสริมรายการวิทยุชุมชน เช่น เวทีวิทยุชุมชนสัญจร
·      จัดทำไตเติ้ลรายการ
·      รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน
ฯลฯ
ผลจากการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาได้ให้บทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังนี้
(ก)   ในขณะที่คณะกรรมการบริหารจะมีภารกิจเน้นหนักด้านนโยบาย ส่วนคณะกรรมการผลิตรายการจะมีภารกิจหลักคือการปฏิบัติงาน เพื่อมิให้เกิดช่องว่างระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติจำเป็นต้องมีการประสานงานอย่างดีระหว่างกรรมการทั้งสองชุด
(ข)   วิธีการที่ดีวิธีหนึ่งในการประสานงานคือการประสานผ่านตัวบุคคล กล่าวคือ ควรมีบุคคลบางคนหรือมีการกำหนดตำแหน่งบางตำแหน่งที่อยู่ในคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อ

คณะกรรมการ

บริหาร
 
คณะกรรมการ
ผลิตรายการ
 

 

 
 
 
 
 

(ค)   มีข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้คณะกรรมการทั้งสองชุดมีความเข้าใจในการผลิตรายการวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดบางท่านควรลงมาเป็นผู้จัดรายกร/ผู้ดำเนินรายการ/แขกรับเชิญ/วิทยากร/หรือมีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น ๆ ของการผลิตรายการ
(ง)    ผลจากการวิจัยวิทยุชุมชนทดลองที่จังหวัดจันทบุรีพบว่า ปัจจัยที่จะทำให้คณะกรรมการทุกชุดทำงานอย่างเต็มที่ก็คือ “การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ” วิทยุชุมชนให้เกิดขึ้น ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนั้น อาจจะไม่มีหรือมีแต่น้อยในระยะเริ่มแรก แต่หากกระบวนการทำงานได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการได้ทำงานอย่างเต็มที่ (รวมทั้งข้อเสนอแนะในข้อ 3) ความรู้สึกเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนก็จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมา
 
(3)   วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการ
ผลจากการวิจัยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า มีวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการแบบใดบ้างที่ได้ผล/แบบใดที่ไม่ได้ผล ดังนี้
(3.1)        วิธีการที่ไม่ได้ผล
·      ได้แก่วิธีการที่หน่วยงานของรัฐใช้วิธีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหรือมาจากการสรรหาของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยทางสถานีของรัฐ
·      วิธีการคัดเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว คนรู้จัก ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิด
·      วิธีการคัดเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้เกณฑ์เรื่องความสะดวก เช่น เลือกเอาคนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานี
เป็นต้น
(3.2)        วิธีการที่ได้ผล
·      ได้แก่วิธีการที่มีการเลือกตั้งมาจากตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มอายุ ทุกเพศ
·      ในกรณีที่ชุมชนนั้นมีการจัดตั้งประชาคม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนทุกกลุ่มอยู่แล้ว ก็อาจจะเลือกตัวผ่านกลุ่มของประชาคม
·      ประสบการณ์ของการคัดเลือกคณะกรรมการทุกชุดของวิทยุชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์นั้น มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากให้มีการใช้วิธีการหลายๆ วิธีการผสมผสานกัน เช่น ก่อนที่จะมีการก่อตั้งวิทยุชุมชน ทางสถานีได้เคยมีประสบการณ์การเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมรายการวิทยุอยู่แล้ว และได้รวบรวมรายชื่อเครือข่ายผู้สนใจกิจการวิทยุ และใช้ฐานข้อมูลเครือข่ายเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกคณะกรรมการ
อีกส่วนหนึ่งได้มาจากเครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน
 (อปม.) ที่กรมประชาสัมพันธ์ไปจัดอบรมเอาไว้
อีกช่องทางหนึ่งคือการประกาศรับสมัครผ่านทางรายการวิทยุกระจายเสียงให้ ผู้ที่สนใจเขียนจดหมายส่งมาที่สถานีหรือเดินทางมาสมัครที่สถานีก็ได้
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ต้องให้แน่ใจว่าจะได้ตัวแทนจากคนทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ ทุกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสด้านการสื่อสาร คือกลุ่มที่ไม่ค่อยได้มีสิทธิมีเสียงในเวทีสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อวิทยุชุมชนได้ให้บริการแก่ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และได้เป็นช่องทางให้คนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิทางการสื่อสารทั้งในฐานะผู้ส่งสารและผู้รับสารของตนอย่างแท้จริง
(4)   คุณสมบัติของคณะกรรมการ
ผลจากการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนในหลาย ๆ ที่ ให้บทเรียนบางประการเกี่ยวกับคุณสมบัติของคณะกรรมการวิทยุชุมชนว่า ควรมี/ไม่ควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ดังนี้
·    คณะกรรมการควรเป็นบุคคลที่มีความกระตือรือร้น เพราะงานวิทยุต้องการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
·    เป็นผู้ที่รักและพร้อมที่จะอุทิศตนเองเพื่อชุมชน เพราะงานวิทยุชุมชนเป็นงานเพื่อส่วนรวมมิใช่ธุรกิจ ควรเป็นผู้ที่มีเวลาว่างพอสมควรที่จะทำงานให้ส่วนรวมภายในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
·    มีความบริสุทธิ์ใจในการเข้ามาทำงาน ไม่มีเป้าหมายเพื่อหวังผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง สำหรับคุณสมบัติข้อนี้ จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบด้วยกระบวนการเลือกตั้งของชุมชนเท่านั้น เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่ต้องดูจากประวัติชีวิตที่ผ่านมา
·    ไม่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องการการที่วิทยุชุมชนจะถูกครอบงำจากการเมืองท้องถิ่น
·    คณะกรรมการวิทยุชุมชนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำของชุมชน เช่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ขอให้เป็นผู้ที่รักและสนใจงานวิทยุเป็นใช้ได้
·    ประสบการณ์จากงานวิทยุชุมชนบางแห่งพบว่า คณะกรรมการมีการเสนอบุคคลอื่นที่โดดเด่นหรือมีอิทธิพลในชุมชนที่ตนเห็นว่าเหมาะสมเป็นกรรมการเพื่อหวังผลการสนับสนุนรายการบางอย่าง เช่น การเงิน ความสะดวกในการทำงานหรือวิทยากร ซึ่งความคิดดังกล่าวนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง เพราะบุคคลที่เด่นหรือมีอิทธิพลอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อการทำงานกลุ่ม เนื่องจากมีลักษณะที่ข่มกรรมการคนอื่น ๆ จนไม่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาคเป็นประชาธิปไตย
·    ปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องจากที่กล่าวมาแล้วก็คือ หากกรรมการมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันมากเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดความเกรงใจกันมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการเลือกกรรมการที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน และมีลักษณะความเป็นตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม จึงเป็นข้อควรพิจารณาประกอบด้วย
1.5.3       การบริหารจัดการ
นอกเหนือจากส่วนประกอบเรื่องคณะกรรมการวิทยุชุมชนที่เป็นหัวใจห้องหนึ่งแล้ว เรื่องที่เป็นหัวใจห้องที่สองของวิทยุชุมชนก็คือ เรื่อง “การบริหารจัดการ” ซึ่งดูเหมือนว่า สังคมไทยจะเป็นโรค “หัวใจห้องที่สองอ่อน” ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการองค์กรใหม่ ๆ เช่นวิทยุชุมชน และเรายังต้องการการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อีกมาก
 

การบริหารจัดการ

 
1.
4 มิติและหลักการ
3.
กลไกการควบคุม
2.
โครงสร้างการบริหาร
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(1)   4 มิติและหลักการของการบริหารจัดการ
สำหรับการบริหารจัดการเรื่องวิทยุชุมชนนั้น มีมิติ 4 ด้านที่ต้องบริหารจัดการให้ครอบคลุมดังนี้
·      การบริหารจัดการตัวบุคคล
·      การบริหารจัดการการผลิตรายการ
·      การบริหารจัดการอุปกรณ์/สิ่งของ
·      การบริหารจัดการงบประมาณ
ในการบริหารจัดการทั้ง 4 มิตินี้ การบริหารจัดการองค์กร เช่น วิทยุชุมชน จำเป็นต้องมีหลักการสำคัญบางประการในการบริหารจัดการ เพื่อให้สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของวิทยุชุมชน คือ
·      หลักการบริหารอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำกันเองภายในกลุ่มคณะกรรมการ และเป็นอิสระจากการครอบงำจากอิทธิพลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น ธุรกิจ โฆษณา และอื่น ๆ
·      หลักการบริหารแบบประชาธิปไตย ผลการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ระบบการบริหารแบบ “แต่งตั้ง/สั่งการ/ควบคุม” แบบราชการนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดโฉมหน้าของวิทยุชุมชนที่แท้จริงได้ การบริหารจัดการวิทยุชุมชนจึงต้องใช้หลักการ “เลือกตั้ง/ประชุมหาข้อสรุป /กำหนดกรอบ/สร้างจิตสำนึก”
·      หลักการบริหารร่วม ถึงแม้จะมีคณะกรรมการหลาย ๆ ชุด รวมทั้งมีการแบ่งฝ่ายงานต่าง ๆ แต่ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการต่าง ๆ นั้น มิได้เน้นลักษณะลำดับชั้นที่มีใครสูงกว่า/ต่ำกว่า มีอำนาจเหนือกว่า/น้อยกว่า แต่ทว่าคณะกรรมการทุกชุด ฝ่ายทุกฝ่าย จะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารที่เรียกว่าเป็น “การบริหารร่วมกัน”
 
(2)   โครงสร้างการบริหารจัดการ
โครงสร้างของการบริหารจัดการวิทยุชุมชนประกอบด้วย 6 ส่วนที่สำคัญคือ
 

1. เป้าหมาย

 
2. นโยบาย
3. แผนงาน
4. การแบ่งงาน
5. การประสานงาน
6. การประเมินผล
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(2.1)        เป้าหมาย/วัตถุประสงค์
การกำหนดเป้าหมาย/วัตถุประสงค์นั้น ในภาคปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นข้ออ่อนของการบริหารงานแบบไทย ๆ เนื่องจากมักไม่ได้มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจน มักถือว่า “รับรู้กันได้โดยปริยาย” หรือไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายจะเป็นเสมือนเชือกแห่งการผูกร้อยความเข้าใจของคนทำงานเป็นเปลาะแรก
ตัวอย่างเช่น หากในหมู่คนทำงานวิทยุชุมชนมีความเข้าใจว่า การมาทำวิทยุชุมชนก็เพื่อให้มีรายการวิทยุออกอากาศอยู่ได้ทุกวัน นี่ก็คงเป็นความเข้าใจเป้าหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากเรื่อง “วิทยุชุมชน” หรือตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวถึงลำดับความสำคัญของเป้าหมายว่า วิทยุชุมชนไม่ใช่วิทยุ “เพื่อ” ชุมชนเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ เป็นวิทยุ “โดย” ชุมชน
ฉะนั้น เป้าหมายสูงสุดของวิทยุชุมชนที่อาจจะระบุได้ในที่นี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดมาจาก “ที่มาที่ไป” ของวิทยุชุมชน นั่นคือ
(ก)       เป็นวิทยุที่มีลักษณะประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือไปสร้างสังคมประชาธิปไตย
(ข)       เป็นวิทยุที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าเป็นวิทยุที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงเป้าและแท้จริง
ความไม่ชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย/วัตถุประสงค์นี้ จะเป็น “การตกบันไดขั้นแรก” ที่จะส่งผลให้เกิดอาการตกบันไดขั้นต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางนโยบาย การวางแผนงาน การเลือกคณะกรรมการ วิธีการดำเนินงาน ฯลฯ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาในตอนข้างต้น
ดังนั้น ภารกิจแรกที่พึงกระทำในการเรียกประชุมกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิทยุชุมชน ก็คือการทำข้อตกลงกันในเรื่องเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของโครงการวิทยุชุมชน ซึ่งจะต้องเขียนออกมาให้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ต้องหมั่นนำเอาเป้าหมายมาทบทวนอยู่เสมอเวลาที่เกิดปัญหาและต้องตัดสินใจ รวมทั้งใช้เป็นธงหลักในการประเมินผล
(2.2)        นโยบาย
ในขณะที่เป้าหมายเป็นเสมือนการให้คำตอบแก่ผู้เดินทางว่า จุดหมายปลายทางที่เราจะไปให้ถึงนั้นอยู่ที่ไหน แต่ในการเดินทางนั้น เรามีวิธีการหลายแบบที่จะใช้ได้ วิธีการที่เราเลือกใช้ก็คือนโยบายนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หากเราวางเป้าหมายเอาไว้ว่า จะสร้างวิทยุชุมชนให้มีลักษณะประชาธิปไตยให้มากที่สุด เราก็ต้องกำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการวิทยุให้หลากหลายรูปแบบ หรือหากเราวางเป้าหมายที่จะเพิ่มความนิยมในการรับฟังของชุมชน เราก็ต้องกำหนดนโยบายให้มีการประชาสัมพันธ์รายการวิทยุชุมชนให้กว้างขวางที่สุด เป็นต้น
(2.3)        แผนงาน
แผนงานเป็น “สะพานเชื่อมต่อ” ระหว่างเป้าหมาย/นโยบายที่เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ กับ กิจกรรมการทำงานที่เป็นรูปธรรม มองเห็นจับต้องได้ และเป็นการคำนวณสมดุลระหว่างทรัพยากรที่เรามีกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ให้รับมือกัน
ในแผนงาน นอกจากจะต้องมีรายละเอียดของวัตถุประสงค์แล้ว อย่างน้อยก็ยังต้องมีการระบุหัวข้อเหล่านี้ให้ชัดเจนคือ
·      จะต้องทำอะไรบ้าง
·      ใครทำอะไรบ้าง
·      ทำอย่างไร
·      เมื่อไหร่เริ่มต้น/เมื่อไหร่เสร็จสิ้น
·      ที่ไหน
·      ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง (จำนวนคน/เวลา/งบประมาณ/สถานที่/อุปกรณ์)
·      คาดหวังว่าจะมีผลงาน (output) อะไรออกมาบ้าง
·      จะติดตาม/ประเมินผลด้วยวิธีการอะไร
จากหัวข้อที่ระบุข้างต้นนี้ จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นอกจากแผนงานจะมีฐานะเป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่คาดหวังเอาไว้กับสิ่งที่ลงมือทำจริงแล้ว แผนงานยังเป็นเสมือนกองกลางของทีมฟุตบอลที่ช่วยให้เกิดการประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เนื่องจากในแผนงานนั้น ทุกคนจะมองเห็นภาพรวมว่า ใครจะต้องทำอะไร/เมื่อไหร่/ที่ไหน/…
สำหรับประเภทของแผนงานนั้น ในองค์กรทั่ว ๆ ไปมักจะมีการวางแผนงาน 3 ประเภท คือ แผนงานระยะยาว (เช่น 1 – 3 ปี) แผนงานระยะกลาง (เช่น 6 เดือน) และแผนงานระยะสั้น (เช่น ทุกอาทิตย์/ทุกเดือน) โดยที่แผนทั้ง 3 ประเภทนี้ต้องสอดรับกัน
และสำหรับงานวิทยุชุมชน ซึ่งมีลักษณะเหมือนงานวิทยุโดยทั่วไปที่ต้องการการทำงานประสานจากหลาย ๆ ฝ่าย มิใช่งานประเภท “ศิลปินเดี่ยว” หรือ “One man show” และยังเป็นงานที่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้ก่อน มิใช่การด้นกลอนสดอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็ยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณที่จะต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด เช่น การวางผังรายการประจำเดือน ทั้งเพื่อให้มีการตระเตรียมล่วงหน้า และเพื่อให้มีการ “เปลี่ยนแผน” ในกรณีที่เกิดปัญหาอุปสรรคขึ้นมา
สำหรับเรื่องการวางแผนงานนี้ ผลการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาได้ข้อค้นพบที่ชวนให้น่ากังวลใจว่า ยังไม่ค่อยมีการวางแผนงานในการทำงานวิทยุชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลทำให้ความใฝ่ฝันเรื่องวิทยุชุมชนไม่อาจแปรมาเป็นความจริงได้
(2.4)        มีการจัดระบบการแบ่งงานกันทำ
การจัดระบบการแบ่งงานกันทำนั้น มีประโยชน์หลายอย่างกล่าวคือ นอกจากจะทำให้รู้ว่าใครต้องทำอะไรบ้างแล้ว ยังเป็นการกระจายความรับผิดชอบและภาระออกไป รวมทั้งมองเห็นปริมาณที่แต่ละตำแหน่งต้องรับผิดชอบ
การจัดระบบแบ่งงานกันทำอาจจะมีหลายแบบ แล้วแต่ความต้องการของวิทยุชุมชนในแต่ละที่ ตัวอย่างเช่น
 

โครงสร้างการแบ่งงานวิทยุชุมชน จ.นครราชสีมา

 
งานวิทยุสัญจร
งานกองทุน
ประสานงาน
งานวิชาการ
งานบรรณาธิการ
 

 

 
 
 
 

โครงสร้างการบริหารวิทยุชุมชน จ.ยะลา (ตามแบบชาวบ้าน)

ประธาน

 
รองประธาน
การเงิน
ฝ่ายกิจการวิทยุ
เลขานุการ
ทะเบียน
ประชาสัมพันธ์
ผู้ช่วยเลขาฯ
ประสานงาน
จัดรายการ
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ในการแบ่งฝ่ายงานต่าง ๆ นั้น ควรมีการระบุลักษณะรายละเอียดของงาน (Job description) ของแต่ละฝ่ายงานจะครอบคลุมงานอะไรบ้าง ทั้งนี้ในกรณีที่มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนตัวบุคคล คนใหม่จะสามารถเรียนรู้การทำงานได้อย่างรวดเร็วโดยดูจากลักษณะรายละเอียดของงาน ตัวอย่างรายละเอียดของงานก็เช่น
·      ฝ่ายรายการกระจายเสียง (วิทยุบุรีรัมย์) มีหน้าที่ในการผลิตรายการ วางผังรายการ ตลอดจนบรรจุรายการเพื่อเผยแพร่ในการเสนอข่าว ความรู้ ความบันเทิงอย่างเป็นสัดส่วนและมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบรายการ วางแผนผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตามนโยบาย
(2.5)        การประสานงาน
การประสานงานเปรียบเสมือนเลือดที่นำเอาทั้งของดีและของเสียไปส่งต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากร่างกายขาดเลือดแล้ว อวัยวะทุกส่วนก็ไม่อาจจะทำงานต่อไปได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การประสานงานในวิทยุชุมชนก็คือกลไกหล่อลื่นการทำงานของวิทยุชุมชนนั่นเอง
มีบทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างสรรค์กลไกการประสานงานให้ทำงานมีประสิทธิภาพ จากตัวอย่างการปฏิบัติงานของวิทยุชุมชน ดังนี้ เช่น
·      น่าจะมีการแต่งตั้งตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่/ผู้ประสานงาน” ในระดับต่าง ๆ เอาไว้เลย เช่น วิทยุชุมชนโคราชมีเจ้าหน้าที่ประสานงานรายการ หรือมีการกำหนดตำแหน่งผู้ประสานงานระหว่างคณะกรรมการบริหารกับคณะอนุกรรมการผลิตรายการ เป็นต้น
·      ต้องหมั่นมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ/ต่อเนื่อง เนื่องจากธรรมชาติการทำงานของวิทยุชุมชนมิได้ใช้ “การสั่งการ” แต่ใช้ “การตกลงร่วมกัน/ต่อรองความคิดเห็น” กัน ดังนั้น จึงต้องมีการใช้ที่ประชุม
·      กลยุทธ์ที่จะทำให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ/ต่อเนื่องนั้น มีหลายวิธีการ เช่น กำหนดวันประชุมที่แน่นอนในแต่ละเดือน หรือการนัดหมายวันประชุมครั้งต่อไปในตอนท้ายของการประชุมทุกครั้ง
(2.6)        การประเมินผล
(ดูรายละเอียดในหัวข้อ “การติดตั้งกลไกการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง”)
การประเมินผลจะต้องถูกบรรจุเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเสมอ และจะต้องมีการทำแผนประเมินผลเอาไว้อย่างชัดเจน แน่นอน
 
(3)   กลไกการควบคุม
เป็นเรื่องแน่นอนว่า ในการบริหารจัดการทั้งหลายนั้น จำเป็นต้องมีระบบการควบคุมเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามที่วางเป้าหมายหรือวางแผนเอาไว้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า จะใช้ระบบการควบคุมแบบไหน อย่างไร มากกว่า สำหรับประสบการณ์การทำวิทยุชุมชนที่ผ่านมาของไทยได้ให้บทเรียนว่า กลไกในการควบคุมการทำงานวิทยุชุมชนนั้นต้องมีอย่างหลากหลาย และใช้การควบคุมเพื่อสร้างสมดุลระหว่าง “การบรรลุเป้าหมาย” กับ “การมีส่วนร่วมของคนทำงาน” ตัวอย่างกลไกการควบคุมที่หลากหลายนั้นได้แก่
(3.1)                  กฎระเบียบ เป็นกลไกแบบเดิม ๆ ที่พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี เนื่องจากการทำงานกับคนหมู่มาก จำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกันในรูปของกฎระเบียบ เพื่อเป็นหลักประกันว่าวิทยุชุมชนจะทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง ตัวอย่างกฎระเบียบที่ควรมีก็เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้จัด/ผู้ดำเนินรายการ รายการที่จะออกอากาศ การควบคุมโฆษณาและบริการธุรกิจ ค่าตอบแทนของฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น
และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่มาของกฎระเบียบที่จะใช้นี้ควรมาจากการตกลงร่วมกันของกลุ่มผู้ทำงาน มิใช่ถูกกำหนดมาจากภายนอก และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพความเป็นจริง
(3.2)                  การประชุม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การประชุมเป็นวิธีการสำคัญในการดำเนินงานแบบประชาธิปไตย นอกจากนั้น การประชุมยังสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกการควบคุมความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานอีกด้วย
(3.3)                  การประเมินผล การประเมินผลก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการควบคุม เนื่องจากได้มีการระบุระยะเวลาและเป้าหมายที่แน่นอนของการประเมินผลเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การประเมินผลในงานวิทยุชุมชนก็ไม่ควรเน้นท่าทีที่จะวัดแต่ “ความสำเร็จ/ความล้มเหลว” มากจนเกินไป แต่ควรมุ่งที่ ”การเรียนรู้ร่วมกัน” เพื่อมิให้ทำลายขวัญและกำลังใจของคนทำงาน
(3.4)                  ระบบการตรวจสอบ ในบางมิติของการบริหารจัดการเช่น การเงิน/บัญชี/งบประมาณ ควรมีระบบการตรวจสอบทั้งจากภายนอกและภายใน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน
อนึ่งมีข้อน่าสังเกตจากผลการวิจัยที่ผ่านมาว่า เนื่องจากในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ยังมีกลไกการควบคุมหลายแบบที่นำเอากฎระเบียบของวิทยุแบบเดิม ๆ มาใช้กับวิทยุชุมชน ซึ่งกฎระเบียบบางข้อนั้นเข้ากันไม่ได้ มีลักษณะลักลั่น หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของวิทยุชุมชนเลย ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบเรื่องการสอบใบผู้ประกาศ ซึ่งหากในด้านหนึ่งวิทยุชุมชนมีเป้าหมายที่จะเปิดกว้างให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลับมีประตูกั้นเรื่องการสอบใบประกาศ ทำให้เกิดลักษณะการควบคุมที่ขัดแย้งกันเอง หรือกฎเกณฑ์ที่ต้องพูดภาษากลาง ไม่ให้พูดภาษาถิ่นในการจัดรายการ ก็ทำให้เป้าหมายเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปไม่ได้
จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขกลไกการควบคุมแบบเดิม หรือสร้างกลไกการควบคุมตามแบบของวิทยุชุมชนขึ้นมาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องหยิบยืมจากระบบวิทยุเดิม
 
1.5.4       หลักการผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการ
ผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สุดของวิทยุชุมชนก็คือ ตัวเนื้อหาและรูปแบบรายการวิทยุชุมชน ซึ่งสามารถจะสะท้อนย้อนกลับไปให้เห็นถึงองค์ประกอบทุกอย่างของวิทยุชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ เป้าหมาย/นโยบาย/แผนงาน/ฯลฯ และก็ยังส่องมองไปข้างหน้าให้เห็นถึงความนิยมในการเปิดรับฟังของชาวบ้าน ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชน การแสดงบทบาทหน้าที่ของวิทยุชุมชนตามที่คาดหวังไว้
 
สำหรับในเนื้อหาส่วนนี้ จะกล่าวถึงหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ของการผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดของการผลิตนั้นจะอยู่ในเนื้อหาส่วนที่ 2 ของคู่มือนี้

เนื้อหารายการ

 
รูปแบบรายการ
 
ประเภทเนื้อหา
หลักการเลือกเนื้อหา
หลักการเลือกรูปแบบรายการ
ประเภทรูปแบบรายการ
การจัดแบ่งประเภทด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(1)   มีเนื้อหาอะไรบ้างในรายการวิทยุชุมชน
ผลจากการสำรวจเนื้อหาวิทยุชุมชนจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์พบว่า มีเนื้อหาประเภทต่าง ๆ ดังนี้
·      เนื้อหาที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น การเกษตร แรงงาน เศรษฐกิจ
·      เนื้อหาด้านการปกครอง เช่น กฎหมาย การเมือง
·      เนื้อหาด้านสังคม – วัฒนธรรม – ศาสนา เช่น ปัญหาสังคม
·      เนื้อหาด้านการศึกษา เช่น ความรู้ต่าง ๆ วิทยาการทันโลก
·      เนื้อหาด้านสุขภาพอนามัย
·      เนื้อหาด้านศิลปะ/ความบันเทิง
·      เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม
·      เนื้อหาด้านการท่องเที่ยว
·      เนื้อหาอื่น ๆ เช่น พยากรณ์อากาศ
(2)   การแบ่งประเภทของเนื้อหา
จากประเภทเนื้อหาที่ระบุมาข้างต้นนั้น ในทางปฏิบัติ อาจจะนำมาจัดแบ่งประเภทโดยใช้เกณฑ์หลาย ๆ แบบเป็นตัวแบ่ง เช่น
·      ใช้เกณฑ์เรื่องสาระ/บันเทิงเป็นตัวแบ่ง ซึ่งจะแบ่งเนื้อหาทั้งหมดออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
(i)               เนื้อหาประเภทที่มุ่งให้สาระ ได้แก่เนื้อหาที่เป็นข้อมูลข่าวสาร เป็นเรื่องราวที่เป็นจริง เป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้แบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น รายการข่าว รายการสารคดี ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
(ii)              เนื้อหาประเภทให้ความบันเทิง ได้แก่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่สนุกสนาน รื่นเริง สร้างความรู้สึกผ่อนคลายหรือเร้าอารมณ์ความรู้สึก เช่น เนื้อหาที่เป็นเพลง กีฬา เป็นต้น
·      ใช้เกณฑ์เรื่องเนื้อหาภายใน/ภายนอกชุมชน ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า วิทยุชุมชนนั้น แตกต่างจากวิทยุสาธารณะตรงที่มีเนื้อหาเรื่องราวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น เราจึงอาจจัดแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
(i)               เนื้อหาภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรายการท้องถิ่น ความรู้ด้านการทำมาหากินในท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน ฯลฯ
(ii)              เนื้อหาภายนอกชุมชน ก็เป็นเนื้อหาจากโลกภายนอก
สำหรับเป้าหมายของการแบ่งประเภทของเนื้อหาออกตามเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ มิใช่เป็น “การแบ่งก็เพื่อแบ่งให้รู้เท่านั้น” แต่การแบ่งประเภทของเนื้อหานั้น กระทำไปเพื่อใช้ติดตามตรวจสอบสัดส่วนของเนื้อหาประเภทต่าง ๆ เพื่อดูสมดุลระหว่างเนื้อหาประเภทต่าง ๆ และเพื่อตรวจสอบว่า วิทยุชุมชนได้แสดงบทบาทตรงกับเป้าหมายที่คาดเอาไว้หรือไม่ เช่น หากปริมาณของเนื้อหาภายนอกชุมชนมีสูงจนไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อหาภายในชุมชน ก็หมายความว่า วิทยุชุมชนนั้นไม่ได้ “เป็นของ” ชุมชนเสียแล้ว เป็นต้น
(3)   กระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกเนื้อหาเพื่อผลิตรายการ
ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า เนื้อหารายการนั้นก็คือตัวบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมว่า วิทยุชุมชนได้ดำเนินการบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือการตอบสนองความต้องการของชุมชนและการเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหารายการที่พึงประสงค์นั้น จะมีกลไกและกระบวนการ 2 อย่างที่ต้องใช้ควบคู่กัน คือ กระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหา และเกณฑ์ในการคัดเลือกเนื้อหา
(3.1)                  กระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหา สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหานั้น มี 2 ขั้นตอนที่สำคัญ ขั้นตอนแรกเป็นหลักสามัญสำนึกอย่างง่าย ๆ ว่า หากเราต้องการที่จะ “เกา” ให้ถูกที่คัน” เราก็ต้องไปสำรวจดูเสียก่อนว่า “ที่คัน” นั้นอยู่ที่ตรงไหน ดังนั้น ในการจัดทำเนื้อหารายการของวิทยุชุมชนนั้น จึงต้องมีการสำรวจความต้องการของผู้ฟังเสียก่อนว่า ต้องการจะฟังเรื่องอะไร (ดูตัวอย่างจากกรณีศึกษาของวิทยุชุมชนทดลอง ที่จังหวัดจันทบุรี)
สำหรับขั้นตอนที่สอง ก็ยังคงเป็นสามัญสำนึก (แต่มักจะไม่ค่อยได้ทำในทางปฏิบัติ) คือหลังจากที่เราได้ลงมือ “เกา” ไปแล้ว เราก็ต้องไปติดตามประเมินผลว่า “แล้วหายคันหรือเปล่า” ดังนั้น การประเมินผลรายการหลังจากที่ออกอากาศไปแล้วจึงเป็นงานที่จำเป็นต้องทำ เพื่อจะนำมาประกอบการตัดสินใจในอนาคตว่า จะเก็บรักษาเนื้อหาอะไรเอาไว้ จะเพิ่มเติมหรือลดทอดหรือตัดออกเนื้อหาอะไร
(3.2)        เกณฑ์ในการคัดเลือกเนื้อหา เกณฑ์ต่อไปนี้ก็เกิดมาจากปรัชญา/ธรรมชาติ/ลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชนนั่นเอง กล่าวคือ
·      ควรเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ตัวท้องถิ่นเป็นหลัก เกณฑ์ข้อนี้ซึ่งทำให้วิทยุชุมชนแตกต่างจากวิทยุสาธารณะ ซึ่งจะรายงานข่าวสารหรือมีเรื่องราวจากส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่วิทยุชุมชนจะเป็นข่าวสารในท้องถิ่น ความรู้ที่อยู่ใกล้ตัว ศิลปะ/วัฒนธรรมที่ชื่นชอบตามรสนิยมของชุมชน ซึ่งการที่จัดทำเนื้อหาให้บรรลุหลักเกณฑ์ข้อนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกชุมชนอย่างกว้างขวาง เช่น การเป็นอาสาสมัครรายงานข่าวในท้องถิ่น การเป็นแหล่งข้อมูลด้านความรู้ในท้องถิ่น
แต่ถึงแม้จะกำหนดสัดส่วนให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ตัวท้องถิ่นเป็นหลักก็มิได้หมายความว่า วิทยุชุมชนจะปิดตัวจากโลกภายนอก ในทางตรงกันข้าม วิทยุชุมชนยังต้องแสดงบทบาทเป็นช่องทางหนึ่งในการพัดพาเอาข่าวสารและความรู้จากโลกภายนอกเข้ามาในชุมชนเพื่อให้ก้าวไปให้ทันกับโลก
·      วิทยุชุมชนควรมีเนื้อหารวมทั้งผู้จัดรายการที่หลากหลาย ประสบการณ์จากวิทยุชุมชนที่เมือง Freiburg ประเทศเยอรมัน เคยพบว่า เมื่อทั้งคนฟังและคนจัดรายการวิทยุชุมชนเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ผลัดบทบาทเล่นไปมา ก็เกิดความต้องการที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือเวลาเป็นคนฟังก็อยากจะให้มีรายการที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงไปเลย แต่เวลาเป็นคนจัดก็อยากจะให้มีคนหลาย ๆ กลุ่มมาฟัง ถ้ามีเพียงรายการเดียว ก็ต้องจัดให้เป็นแบบกว้าง ๆ เอาใจคนฟังทุกกลุ่ม ทางแก้ปัญหาสำหรับความขัดแย้งนี้ก็คือ การจัดให้มีหลาย ๆ รายการ แต่ละรายการมุ่งเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ฟังแต่ละกลุ่ม และต้องมีการตรวจสอบติดตามให้แน่ใจว่า วิทยุชุมชนนั้นมีรายการสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ
สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเนื้อหาข้อนี้เป็นไปได้จริงก็คือ ต้องมีช่วงเวลาการออกอากาศที่มากพอสมควร ตัวอย่างเช่น รายการวิทยุชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีถึง 10 รายการ
 
รายการ
เวลาออกอากาศ
วัน
เนื้อหา
1. คติธรรมประจำวัน
05.00 – 05.15
ทุกวัน
ธรรมะ
2. ทันข่าวเช้าวันนี้
05.15 – 06.00
ทุกวัน
ข่าวทั่วไป
3. บอกกล่าวเล่าแจ้ง
06.30 – 07.00
ทุกวัน
ข่าวท้องถิ่น
4. ร่วมคิดร่วมคุย
10.00 – 11.00
ทุกวัน
เวทีพูดคุยประเด็น
         ต่างๆ
5. ฟันธงตรงประเด็น
11.00 – 12.00
จ.-ศ.
วิจารณ์การเมือง
6. ระฆังใจ
13.00 – 14.00
จ.-ศ.
เพลง
7. พูดจาภาษาช่าง
14.00 – 14.30
จ.-ศ.
ช่าง/อาชีพ
8. เสียงจากชุมชน
17.00 – 18.00
ทุกวัน
ร้องทุกข์
9. ดีเจเยาวชน
18.00 – 19.00
ทุกวัน
เยาวชน
10. ภูมิปัญญาชาวบ้าน
21.00 – 22.00
ทุกวัน
ความรู้ของชาวบ้าน
 
·      จัดสรรช่วงเวลาให้เหมาะกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย จากตัวอย่างรายการวิทยุชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ที่ยกมาแสดงให้เห็น จะชี้ให้เห็นว่า การจัดสรรช่วงเวลานั้นเหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ รายการข่าวจะเป็นช่วงเวลาเช้า ก่อนที่กลุ่มผู้ใหญ่จะออกจากบ้านไปทำงาน
ในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงเวลาออกอากาศนี้ ยังมีข้อควรพิจารณาอีก 2 ประการคือ การจัดช่วงเวลาโดยดูสื่อคู่แข่งอื่น ๆ เช่น ผลการวิจัยผู้รับฟังกลุ่มวิทยุชุมชนจังหวัดระยองเสนอว่า รายการที่ดี ๆ ของวิทยุชุมชนไม่ควรไปอยู่ชนกับเวลาของละครโทรทัศน์ เป็นต้น
นอกจากนั้น เนื้อหารายการจะเป็นที่น่าสนใจเมื่อมีลักษณะสอดคล้องกับกาลเวลาหรือฤดูกาล เช่น เมื่อถึงฤดูร้อน รายการความรู้เพื่อสุขภาพก็ควรเป็นโรคที่มักเป็นในฤดูร้อน เป็นต้น
การคัดเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมกับช่วงเวลานั้น จำเป็นต้องมีการสำรวจวิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่มในชุมชน รวมทั้งสอบถามความต้องการของผู้ฟังในเรื่องช่วงเวลาออกอากาศประกอบไปด้วย
·      ควรคัดเลือกเนื้อหาให้สอดคล้องหรือแสดงออกซึ่งความเชื่อ/ภูมิปัญญา/วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ประเด็นที่เป็นปัญหามากที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ข้อนี้ก็คือ ควรใช้ภาษากลางหรือภาษาท้องถิ่นในนำเสนอเนื้อหา รายงานการวิจัยบางชิ้นระบุว่า ผู้ฟังมีความเห็นว่า น่าจะมีการใช้ภาษาท้องถิ่น เพราะจะทำให้ฟังง่าย รู้สึกใกล้ชิด และไม่เป็นทางการมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนตายตัว และคงต้องสำรวจความชื่นชอบในแต่ละท้องที่ ในแต่ละประเภทรายการ
สำหรับเนื้อหาที่แสดงออกซึ่งภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นนั้น จะทำให้วิทยุชุมชนในแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ในทางภาคใต้ ก็คงมีรายการโนห์รา ในขณะที่ทางภาคเหนือก็คงจะมีรายการค่าวซอ หลักเกณฑ์ข้อนี้จะเอื้ออำนวยให้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการแสดงออกซึ่งตัวตนของแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
·      หลักเรื่อง “ความสมดุล” ดูเหมือนจะเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกเนื้อหา กล่าวคือ ไม่ควรให้มีแต่เนื้อหาที่ “สะท้อนปัญหา” แต่ควรมีเนื้อหาที่มีวิธีการ “แก้ไขปัญหา” ด้วย อย่าให้มีแต่เนื้อหาที่ “จับผิดหน่วยงานราชการต่าง ๆ” แต่ควรจะมีเนื้อหาที่ “ชมเชยและสร้างสรรค์” อย่าให้มีแต่เนื้อหาเรื่อง “การเมือง” เท่านั้น แต่ควรจะมีเรื่องผ่อนคลายเช่นศิลปวัฒนธรรมและศีลธรรมศาสนาด้วย เป็นต้น
(4)   รูปแบบรายการและวิธีการนำเสนอ
รูปแบบรายการที่จะนำมาใช้ในวิทยุชุมชนนั้น สามารถมีได้อย่างหลากหลาย โดยที่แต่ละรูปแบบรายการต่างก็มีเป้าหมายเฉพาะ มีลักษณะเฉพาะ มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมมากน้อยต่างกัน รวมทั้งมีความยากง่ายในการผลิตแตกต่างกัน การเลือกใช้รูปแบบรายการประเภทต่าง ๆ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยและความพร้อมของผู้จัดด้วย
ตัวอย่างงานวิจัยวิทยุชุมชนของจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ได้ประมวลรูปแบบรายการที่ใช้อยู่ว่ามีถึง 7 ประเภท คือ
·      นิตยสารทางอากาศ
·      สัมภาษณ์
·      ข่าวสลับเพลง
·      พูดคุยกับผู้ฟัง
·      สนทนา
·      พูดคุยสลับเพลง
·      อภิปราย
โดยที่รูปแบบที่นำมาใช้มากที่สุดคือ รูปแบบนิตยสารทางอากาศซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เป็นรูปแบบรายการที่มีทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอหลากหลาย แต่ทว่ารูปแบบรายการเช่นนี้ก็ต้องมีเอกภาพที่เกิดจากการกำหนดแก่นและขอบเขตของแนวเนื้อหา กำหนดกลุ่มเป้าหมายและบุคลิกเฉพาะตัวของรายการให้ได้ ซึ่งหากร้อยส่วนย่อย ๆ ของรายการเอาไว้ไม่ได้ รายการดังกล่าวก็จะแตกกระจายออกไปคนละทิศละทาง
·      สำหรับหลักเกณฑ์เรื่องการคัดเลือกรูปแบบการนำเสนอรายการนั้น ควรจะคำนึงถึงเป้าหมายสูงสุด ลักษณะของวิทยุชุมชน และบทบาทที่วิทยุชุมชนพึงกระทำดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นการเลือกรูปแบบรายการที่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นร่วมกันของแขกรับเชิญ เช่น รายการอภิปราย หรือรูปแบบที่เปิดเป็นเวทีให้ผู้ฟังทางบ้านมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทัศนะ ควรจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญเอาไว้เป็นลำดับต้น ๆ
 
 
1.6     กลไกการเสริมสร้างพลังของวิทยุชุมชน
ดูเหมือนว่า “การก่อตั้งวิทยุชุมชน” ขึ้นมาให้ได้นั้น อาจะเป็นภารกิจที่ไม่ยากลำบากเท่าใดนัก แต่การจะทำให้วิทยุชุมชนที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วมีการเจริญเติบโตและมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแกร่งนั้น อาจจะยากยิ่งกว่า รวมทั้งการจะทำให้วิทยุชุมชนนั้นมีอายุยั่งยืนยาวนานต่อไปได้ ก็ดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญเลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อมีการก่อตั้งวิทยุชุมชนขึ้นมาแล้ว ภารกิจที่ท้าทายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน ก็เห็นจะเป็นการแสวงหาและติดตั้งกลไกการเสริมพลังของวิทยุชุมชน
ผลจากการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ข้อที่อ่อนที่สุดของวิทยุชุมชนก็คือ การขาดแคลนทรัพยากรที่เป็นเสมือนท่อนฟืนที่จะนำมาใส่ในวิทยุชุมชนให้ลุกโชนต่อไป ทรัพยากรที่สำคัญคือ ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรงบประมาณ ซึ่งทรัพยากรทั้งสองอย่างนี้ น่าจะแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และจุดอ่อนอีกประการหนึ่งก็คือ การขาดการติดตามประเมินผล ดังนั้น ในที่นี้ จึงขอนำเสนอรายละเอียดของกลไก 4 ประเภทที่จะแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้

1.

การฝึกอบรม
 
3. การบริหารงบ
ประมาณ
4. การประเมินผล
อย่าง
ต่อเนื่อง
2. การเสริมการมีส่วนร่วมของ
ชุมชน
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

1.6.1       การฝึกอบรม
เมื่อกล่าวถึงทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาเป็นส่วนประกอบในวิทยุชุมชนนั้น ความแตกต่างระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุสาธารณะ/วิทยุธุรกิจโดยทั่วไปก็คือ ในขณะที่วิทยุสาธารณะ/ธุรกิจจะมีคนกลุ่มเล็กที่มีลักษณะเป็นมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการวิทยุ แต่ทว่าในวิทยุชุมชนนั้น ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการวิทยุจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัครที่มาทำวิทยุเพราะใจรักและเข้าใจในเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนจะเป็นอาสาสมัคร แต่เนื่องจากวิทยุชุมชนไม่ใช่เรื่อง “ที่ใคร ๆ ก็ทำได้/หรือเกิดมาก็ทำเป็นเลยตามธรรมชาติ/หรือเพียงแค่มีใจรักก็ทำได้แล้ว” หากทว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีการฝึกฝนอบรมเป็นการเฉพาะ ในที่นี้เราจึงจะกล่าวถึงเรื่อง “การฝึกอบรม” ในฐานะที่จะเป็นกลไกตัวหนึ่งในการเสริมพลังเข้มแข็งให้แก่วิทยุชุมชน
 
 

 

การฝึกอบรม
 
1. ทำไมต้องมี
5. บทเรียนที่มี
2. จะฝึกใคร
3. จะฝึกอย่างไร
4. จะฝึกเรื่องอะไร
งานต่อเนื่อง
จาก “หัว” สู่ “ลำตัว”
ผูกประสานความเข้าใจร่วมกนร่วมกันวมกัน
งานสาธารณะ
กระจายอำนาจ
กระจายความรู้
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(1)   ทำไมต้องมีการฝึกอบรม
มีคำตอบหลากหลายประการต่อคำถามที่ว่า “ทำไมต้องมีการฝึกอบรม” ให้แก่อาสาสมัคร/คนที่จะเข้าไปทำงาน/เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน
(i)     กระจายอำนาจแล้ว ต้องกระจายความรู้ด้วย แม้ว่าแนวคิดเรื่อง “วิทยุชุมชน” จะมีความเป็นมาจากเรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิด้านการสื่อสารให้แก่กลุ่มประชาชน แต่การกระจายอำนาจและสิทธินั้น ก็คงจะเป็นหมันหรือกลับส่งผลในทางลบ หากไม่มีกระบวนการกระจายความรู้ควบคู่ตามไปด้วย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นถึงโครงสร้างที่เหมาะสมประการหนึ่งของวิทยุชุมชนที่ก็คือ ความเข้าใจในสิทธิการสื่อสารของประชาชน แต่เนื่องจากสิทธิการสื่อสารโดยเฉพาะในฐานะ “ผู้ส่งข่าวสาร” เป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีกลไกการฝึกอบรมมาเสริมเพิ่มเติม
(ii)    งานวิทยุเป็นงานในพื้นสาธารณะ การพูดคุยทางวิทยุชุมชนไม่เหมือนกับการพูดคุยแบบธรรมดาท่ามกลางหมู่ญาติมิตร ต้องมีความระมัดระวัง ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล เพราะเป็นการพูดให้คนหมู่มากฟังและมีผลกระทบสูงกว่าการพูดแบบธรรมดา ดังนั้นจึงต้องอบรมให้ชาวบ้านรู้จักกฎเกณฑ์และขอบเขตในการพูดในพื้นที่สาธารณะ
(iii) งานวิทยุเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวันสม่ำเสมอ จึงต้องการทรัพยากรบุคคลจำนวนมากเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน หากงานวิทยุชุมชนไปตกอยู่ในมือของคณะกรรมการ/อาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ผลงานวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนในหลายแห่งได้พิสูจน์แล้วว่า อนาคตของวิทยุชุมชนนั้นมักจะมีอาการ “ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต” เพราะกรรมการ/อาสาสมัครกลุ่มเล็กมักจะหมดแรงไปก่อนจะถึงเป้าหมาย การฝึกอบรมจึงเป็นกลไกการสร้าง/ขยายทรัพยากรบุคคล เพื่อการนำมาใช้จัดระบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน และกระจายความรับผิดชอบให้เกลี่ยกันไปในระดับที่ชีวิตชาวบ้านธรรมดาพอจัรองรับไหว
(iv) การเคลื่อนไหวจาก “หัว” สู่ “ลำคอ” เพื่อจะลง “ลำตัว ในความเป็นจริง คงต้องยอมรับว่า ทิศทางการไหลของอำนาจ/ความรับผิดชอบ/หน้าที่สิทธิของวิทยุกระจายเสียงนั้น เริ่มจากส่วนหัว คือ “หน่วยงานราชการ” และในชั้นต่อมาเมื่อมีการเปิดฉากยกแรกเรื่อง “วิทยุชุมชน” นั้น กลุ่มคนที่เข้ามาสนใจและดำเนินการวิทยุชุมชน ยังมักจะเป็น “ส่วนลำคอ” คือกลุ่มชนชั้นกลางหรือกลุ่มแกนนำในชุมชนที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ บทบาท/ความสำคัญของวิทยุ รวมทั้งอาจมีความคุ้นเคยกับงานวิทยุ ในหลาย ๆ แห่ง กลุ่มคนที่ทำวิทยุชุมชนจึงยังคงจำกัดอยุ่ในกลุ่มชนชั้นกลางหรือผู้นำชุมชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสุดท้ายของวิทยุชุมชนที่จะสามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคงก็คงต้องขยับเขยื้อนให้มีการไหลจาก “ส่วนลำคอ” ลงสู่ “ส่วนลำตัว” ต่อไป ในการนี้ การฝึกอบรมจะเป็นพลังลมปราณในการขับเคลื่อนการไหลได้ส่วนหนึ่ง การฝึกอบรมจะเป็นเวที/เงื่อนไขให้ชาวบ้านได้ทำความรู้จัก/คุ้นเคยกับวิทยุชุมชน และสามารถขจัดโรคกลัวงานวิทยุสารพัดชนิดให้หายขาดได้
(v)   ผูกประสานความเข้าใจร่วมกัน ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า “ความเข้าใจร่วมกัน” ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน (โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมือรัฐมาสู่มือประชาชน) จะเป็นประดุจเชือกมัดคนทำงานให้อยู่ร่วมกัน หากเมื่อใดที่เจ้าหน้าที่รัฐยังมองว่า “วิทยุชุมชนคือแหล่งที่จับผิดข้าราชการ” หรือ ชาวบ้านรับรู้ว่า “วิทยุชุมชนเป็นพื้นที่ที่ด่าคนได้โดยเสรี” เมื่อนั่น งานวิทยุชุมชนก็ไม่มีทางไปได้ตลอดรอดฝั่ง
มีข้อน่าสังเกตว่า ทั้งที่เรื่อง “การฝึกอบรม” เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่รับประกันการคงอยู่ของงานวิทยุชุมชน แต่สังคมไทยเกือบทุกส่วนยังมองข้ามการดำเนินการเรื่องการฝึกอบรมไปอย่างมาก ในหมู่ข้าราชการมักมีแต่การมอบหมายนโยบายให้รับไปปฏิบัติ แต่ไม่มีการเสริมอบรมความเข้าใจ โดยมีความเชื่อว่า ข้าราชการจะเข้าใจทุกๆเรื่องโดยอัตโนมัติ ในหมู่ประชาชน มักมีการระดมพลังให้เข้ามาช่วยแบกรับงาน แต่ก็ไม่มีการติดเขี้ยวเล็บทางความคิดให้เช่นกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ สังคมไทยยังเอาใจใส่/และทำการบ้านน้อยมากในเรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเรื่องการฝึกอบรมวิทยุชุมชน
(2)   จะฝึกอบรมใครบ้าง
·      คำถามที่ว่าจะฝึกใครบ้างนั้น ควรจะเป็นคำถามแรกเลยสำหรับการจัดการฝึกอบรม ทั้งนี้ เพราะการตอบคำถามได้ว่าผู้ที่จะมาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นใครนั้น จะสะท้อนกลับไปให้เป็นเป้าหมายของการฝึกอบรม และจะเป็นตัวไปกำหนดเนื้อหาและวิธีการฝึกอบรมในชั้นต่อไป
·      การที่จะคัดเลือก “ใคร” เข้ามาเป็นผู้รับการอบรมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่างานวิทยุชุมชนกำลังต้องการระดมทรัพยากรบุคคลในระดับไหน/แบบไหน เช่น ถ้าเป็นช่วงที่กำลังมีการก่อตัวของคณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชน ก็คงต้องฝึกอบรมกลุ่มตัวแทนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ หากต้องการขยายอาสาสมัครผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ก็คงต้องฝึกอบรมกลุ่มประชาชนที่สนใจจะมาเป็นผู้สื่อข่าว เป็นต้น
·      แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติที่แท้จริง การฝึกอบรมนั้นก็ควรมีลักษณะ “กินหัว กินกลาง แล้วค่อยกินตลอดหาง” หมายความว่า ควรจะเริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำชุมชนระดับหัว ๆ เสียก่อน แล้วค่อยขยายลงไปสู่แกนนำกลุ่มย่อย ๆ และประชาชนทั่วไป
·      อย่างไรก็ตาม หลักการเรื่องความหลากหลายและสมดุลที่เป็นหลักยึดสำคัญของวิทยุชุมชนก็ยังคงต้องคำนึงถึงตลอดเวลา การเลือกตัวบุคคลมารับการฝึกอบรมนั้นจึงต้องให้ครอบคลุมคนหลายวัย หลายเพศ หลายอาชีพ ทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มช่างตัดผม ฯลฯ
·      ส่วนกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปคือกลุ่มข้าราชการ เพราะความเข้าใจว่า “เป็นข้าราชการแล้วต้องเข้าใจเรื่องใหม่ ๆ ได้ทุกเรื่องที่มีนโยบายสั่งมา” ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นควรมีการฝึกอบรมเรื่องวิทยุชุมชนให้แก่ข้าราชการด้วย
·      การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม คุณสมบัตินี้ควรจะต้องสอดรับกับเป้าหมาย/ภารกิจของผู้เข้าอบรม โดยอาจมีคุณสมบัติพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน เช่น การเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ (ชอบทำกิจการเพื่อส่วนรวม) และมีจิตใจรัก/สนใจงานวิทยุ เป็นต้น แต่ควรมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการอบรมทุกครั้งเพื่อให้เกิด “การถูกฝาถูกตัว”
ตัวอย่างของคุณสมบัติของคนที่จะเข้ารับการฝึกอบรม “การเป็นผู้จัดรายการ” เช่น ต้องพูดจาชัดเจน/ฉะฉาน/มีไหวพริบ/มีทักษะการฟังที่ดี/สุภาพ เป็นต้น
(3)   จะฝึกเรื่องอะไร
(ดูรายละเอียดในกรณีศึกษาของวิทยุชุมชนปัตตานี)
เนื้อหาที่จะใช้ฝึกอบรมนั้น ต่อเนื่องจากมาจากคำถามที่ว่า เป้าหมายของการฝึกอบรมนั้นมุ่งหวังจะให้ผู้รับการอบรมไปปฏิบัติภารกิจหน้าที่อะไร เช่น
·      ไปเป็นผู้ฟังที่เอาการเอางาน (active)
·      เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น
·      เป็นผู้ดำเนินรายการ (DJ)
·      เป็นผู้ผลิตรายการ
·      ผู้บริหาร/คณะกรรมการวิทยุชุมชน
เนื้อหาที่จะจัดให้ ก็จะสอดคล้องกับภารกิจของผู้เข้ารับการอบรม
เราอาจจะประมวลหมวดหมู่ของเนื้อหาที่จะใช้ในการอบรมวิทยุชุมชนออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ
(i)หมวดที่เกี่ยวกับความรู้/ความเข้าใจทั่วไป ตัวอย่างเนื้อหาในหมวดนี้ก็เช่น
·      แนวคิด/ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยุชุมชน (หัวข้อนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องทุกคนกับวิทยุชุมชนควรจะผ่านการอบรมมา)
·      พัฒนาการของวิทยุชุมชนในต่างประเทศ/ประเทศไทย
·      สถานการณ์การปฏิรูปสื่อในสังคมไทย
·      บทบาทหน้าที่ประโยชน์ของวิทยุชุมชนกับสังคมไทย
·      การเตรียมประชาชนเพื่อการปฏิรูปสื่อและวิทยุชุมชน
ฯลฯ
(i)               หมวดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการวิทยุชุมชน ได้แก่เนื้อหาที่อยู่ในคู่มือเล่มนี้ เช่น
·      ภาวะการเป็นผู้นำ
·      โครงสร้างการบริหารจัดการวิทยุชุมชน
·      การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
·      การบริหารจัดการงบประมาณ
·      หลักการวางเป้าหมาย/นโยบาย/แผนงาน
ฯลฯ
(ii)              หมวดที่เกี่ยวกับความรู้เชิงเทคนิคระดับการผลิตรายการ
·      หลักการผลิต/พัฒนา/วิจัยรายการ
·      การเป็นผู้ผลิตรายการ
·      การเป็นผู้จัดรายการ (หลักการพูดในที่สาธารณะ)
·      การเป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น (เทคนิคการหาข่าว/การสัมภาษณ์)
ฯลฯ
(4)   จะฝึกอย่างไร
สำหรับรูปแบบการฝึกอบรมนั้น สามารถทำได้อย่างหลากหลาย และยังสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างที่จะยกมาที่นี้เป็นการริเริ่มของทีมวิจัยวิทยุชุมชนปัตตานีที่มีอาจารย์ชาลิสา มาแผ่นทอง เป็นนักวิจัย
(i)     การฝึกอบรมแบบทั่วไป ที่ผู้จัดมีการเตรียมสถานที่ฝึกอบรม เนื้อหา วิธีการ/กระบวนการ อุปกรณ์ เอาไว้ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมมาเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เตรียมเอาไว้ ตัวอย่างเช่น การอบรมผลิตรายการวิทยุชุมชนแบบ BBC ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับวิธีการผลิตรายการวิทยุและการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการจัดรายการวิทยุ การฝึกอบรมแบบนี้ มักต้องเตรียมสถานที่เป็นสถานีวิทยุจริง ๆ เพื่อให้ผู้รับการอบรมรู้จักและคุ้นเคยกับเครื่องมือ วิธีการอบรมมักจะใช้การบรรยายประกอบกับการลงมือปฏิบัติงานจริง เพราะเป็นเนื้อหาในเชิงเทคนิค
(ii)    การจัดเวทีสัญจร เป็นวิธีการจัดอบรมที่ทีมผู้จัดจะสัญจรไปใช้สถานที่จัดในชุมชนเพื่อให้แกนนำชุมชนหรือคนในชุมชนมีโอกาสได้เข้าร่วมได้มากที่สุด เนื้อหาการอบรมมักจะเป็นเรื่องแนวคิด/ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยุชุมชน หรือการบริหารจัดการวิทยุชุมชน วิธีการจัดนั้น อาจจะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น ให้คนในชุมชนเล่าประวัติของหมู่บ้านและรูปแบบการสื่อสารของชุมชน มีการบรรยายแนวคิด และมีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ระดมสมอง เป็นต้น
(iii) การจัดเวทีเสวนา มีเป้าหมายคล้ายการจัดเวทีสัญจร แต่ทว่าจะเน้นกิจกรรมที่ให้สมาชิกได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เช่น เนื้อหาการอบรมเพื่อเตรียมการจัดตั้งวิทยุชุมชน รูปแบบการจัดนั้น อาจจะใช้รูปแบบการเชิญวิทยากรที่มีบทบาทเกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์โดยตรงกับงานวิทยุชุมชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าอบรม มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อปฏิบัติงานจริง และมีข้อเสนอรวมทั้งแผนการดำเนินงาน
(iv) การเรียนรู้ระหว่างลงมือทำจริง (On-the-job training) รูปแบบการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพมากอีกรูปแบบหนึ่งคือการเรียนรู้ระหว่างลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งทีมวิจัยวิทยุชุมชนปัตตานีได้ทดลองทำตามขั้นตอนดังนี้คือ
 
 
 
 

การประชุมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องวิทยุชุมชน 3-4 ครั้ง

 
ทดลองปฏิบัติจัดรายการร่วมกับทีมวิจัย
จดบันทึกว่ามีปัญหาอะไรบ้างระหว่างการทำงาน
นำเอาปัญหามาช่วยทบทวนร่วมกันในกลุ่ม
กลับไปแก้ไข/ลงมือปฏิบัติอีก
เสนอแนะ    แก้ไข
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ผลจากการฝึกอบรมแบบนี้ จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง ๆ แต่ทว่าวิธีการฝึกแบบนี้ก็มีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าอบรมควรมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องงานวิทยุชุมชนมาบ้างแล้ว
(5)   บทเรียนของการฝึกอบรมที่สำเร็จ/ล้มเหลว
ผลจากการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมาให้บทเรียนบางประการเกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านวิทยุชุมชนดังนี้
·      ต้องระมัดระวังวิธีให้เนื้อหาที่เป็นวิชาการมากเกินไป ซึ่งมักจะเป็นข้อคิดเห็นอันดับแรก ๆ เมื่อมีการประเมินผลผู้รับการอบรม ทั้นี้เนื่องจากวิทยากรที่เชิญมามักจะเป็นนักวิชาการหรือนักวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นจึงต้องมีการแปลง “ภาษาวิชาชีพ” ให้เป็น “ภาษาที่ชาวบ้านฟังเข้าใจได้”
·      รูปแบบการสื่อสารแบบสองทางจะให้ผลดีมากกว่าการสื่อสารแบบทางเดียว ดังนั้นการฝึกอบรมจึงไม่ควรมีแต่ช่วงที่วิทยากรมาพูดแล้วผู้รับการอบรมนั่งฟังตลอดทั้งรายการ แน่นอนว่าการรับฟังความรู้จากวิทยากรเป็นรูปแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควรจัดรูปแบบการอบรมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประชุมกลุ่มย่อย การซักถามข้อข้องใจ การระดมสมอง ฯลฯ ผสมผสานด้วย
·      จัดอบรมต้องประกบด้วยกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการอบรมด้วยเนื้อหาแบบใดก็ตาม ควรจะมีการมอบหมายให้ผู้เข้าอบรมไปทดลองทำกิจกรรมจริง ๆ หลังจบแล้ว เช่น ไปทดลองจัดวิทยุจริง ๆ     ไปลองประชาสัมพันธ์วิทยุชุมชน ไปขยายเครือข่าย ฯลฯ แล้วนำผลการทำกิจกรรมมาทบทวนอีกครั้ง
·      การจัดอบรมจะได้ผลดีอย่างมาก หากชุมชน/ผู้เข้าอบรมมีความต้องการการอบรมอย่างแท้จริง เช่น มีการเรียกร้องให้อบรม และหากมีการ “ตัดเย็บ” หลักสูตรการอบรมให้เข้ากับลักษณะของชุมชน ก็จะยิ่งได้ผลดียิ่งขึ้น
·      บรรยากาศในการอบรมก็เป็นส่วนประกอบให้การอบรมได้ผลดีหรือล้มเหลว การลงไปจัดเวทีสัญจรในหมู่บ้าน จะทำให้ได้บรรยากาศที่เป็นกันเอง เกื้อหนุนให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง
·      มีข้อควรคำนึงว่า การจัดฝึกอบรมนั้น จะทำเพียงครั้งเดียวแล้วก็เลิกกันนั้น มักจะไม่ได้ผล จึงควรมีการวางแผนการฝึกอบรมเอาไว้เป็น “ชุด หรือมีการชุมนุมศิษย์เก่าเพื่อย้อนกลับมาทบทวนความหลังเป็นระยะ ๆ โดยใช้สูตร action/reflection (คิด-ทำ-คิด-ทำ…) สลับฟันปลากันไป
1.6.2       การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

ทำไมต้อง “การมีส่วนร่วม”

 
การมีส่วนร่วมของวิทยุชุมชน
คำตอบเชิงหลักการ
คำตอบเชิงปรัชญา
คำตอบเชิงปฏิบัติ
ตัวอย่างกิจกรรม
ระดับของการมีส่วนร่วม
มีประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่ 3 เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนคือ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
(1)   ทำไมต้อง “การมีส่วนร่วม”
·      คำตอบเชิงปรัชญา
หากเราระบุให้มีเพียงคำตอบเดียวต่อคำถามที่ว่าวิทยุชุมชนนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากวิทยุสาธารณะ/วิทยุธุรกิจอย่างไร คำตอบที่ดูเหมือนจะต้องเลือกก็คือ วิทยุชุมชนนั้นเป็นวิทยุที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของผู้คนมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิทยุที่ดำเนินงานโดย ของ และเพื่อประชาชนนั่นเอง
·      คำตอบเชิงหลักการ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของวิทยุชุมชนก็คือการผลิตเนื้อหารายการเพื่อตอบสนองความต้องการในงานพัฒนาของชุมชน การตอบสนองความต้องการนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากชุมชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม มาร่วมสะท้อนความต้องการ มาบอกเล่าเก้าสิบว่าชุมชนคาดหวังอะไร รวมทั้งมาคอยช่วยประเมินผลวิทยุชุมชนด้วย
·      คำตอบภาคปฏิบัติ
นอกเหนือจากเหตุผลเชิงหลักการ/ปรัชญาที่ว่า “วิทยุชุมชนเป็นวิทยุของทุก ๆ คนจึงต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมแล้ว” แม้แต่เหตุผลในทางปฏิบัติก็ยังต้องการหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่ดี ดังตัวอย่างงานวิจัยวิทยุชุมชนหลายแห่งที่มีอาการเหมือนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แปลก ๆ ของไทย คือจะครึกครื้นเฟื่องฟูในระยะเริ่มแรก แล้วก็ค่อย ๆ ซบเซาในระยะต่อมา จนกระทั่งฟุบหายไปในตอนท้าย ชะตากรรมของวิทยุชุมชนก็อาจจะเป็นเช่นนั้น
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า งานวิทยุเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการจัดทำต้องมีการเตรียมตัว มีการประสานผู้คน ค้นหาข้อมูล ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้แรงงานคน แรงงานสมอง กำลังกาย และเวลาทั้งนั้น ดังนั้น หากงานวิทยุชุมชนรวมศูนย์อยู่ในกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ในไม่ช้า คนกลุ่มนั้นก็ต้องหมดแรงที่จะยืนหยัดต่อไปได้ ทางออกทางเดียวก็คือต้องมีกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ที่จะมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาแบกรับความรับผิดชอบ (ดูกรณีศึกษาของอาสาสมัครได้จากวิทยุชุมชน จ.บุรีรัมย์)
ปัญหาการขาดทรัพยากรกำลังคนในการดำเนินงานวิทยุชุมชนจึงจะแก้ไขได้ด้วยการใช้กระบวนการขยายการมีส่วนร่วมของเครือข่าย/อาสาสมัครเท่านั้น แผนการขยายเพื่อนร่วมงานจึงเป็นหลักประกันอันหนึ่งของอายุอันยืนยาวของวิทยุชุมชน
·      ตรวจสอบว่าคนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ในสภาพความเป็นจริงการเลื่อนไหลของวิทยุชุมชนในสังคมไทยปัจจุบัน ยังคงเลื่อนมาจากระดับ “หัว” สู่ “ลำคอ” เท่านั้น กล่าวคือ กลุ่มคนที่เข้าไปมีบทบาทในวิทยุชุมชน ยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี มีความเข้าใจเรื่องสิทธิการสื่อสาร ก้าวต่อไปของวิทยุชุมชนจึงควรเป็นการผลักดันให้การเลื่อนไหลนี้ลงไปสู่ลำตัวซึ่งเป็นฐานรากเพื่ออนาคตอันมั่นคงของวิทยุชุมชนในสังคมไทย
 
(2)   ระดับต่าง ๆ ของการมีส่วนร่วม
สำหรับแนวคิดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมนั้น ได้แบ่งระดับการมีส่วนร่วมในการสื่อสารของประชาชนเอาไว้ 3 ระดับ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของวิทยุชุมชนดังนี้
·      การมีส่วนร่วมในระดับผู้นำ
·      การมีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมผลิตรายการ
·      การมีส่วนร่วมในฐานะผู้บริหาร/ผู้วางแผน/นโยบาย
ในแต่ละระดับนั้น ยังคงเปิดกว้างต่อการริเริ่มสร้างสรรค์ของวิทยุชุมชนในแต่ละแห่งว่า จะพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในแต่ละระดับได้อย่างไรบ้าง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วที่จะนำมาเสนอในที่นี้
(i)               การมีส่วนร่วมในระดับผู้ฟัง
ผู้ฟังวิทยุชุมชนจะไม่เป็นเพียง “ผู้ฟังเฉย ๆ” แต่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่
·    รับฟังอย่างสม่ำเสมอ
·      รายงานผลการฟังให้ทางผู้จัดรายการทราบ
·      ติชม/เสนอแนะ/ประเมินผลรายการ
·      โทรศัพท์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ
·      จดหมายมาเสนอแนะหัวข้อ/ประเด็นเนื้อหา/ประเด็นปัญหา
·      เป็นตัวแทนส่งข่าวสาร/ร่วมแจ้งข่าวสาร/ตรวจสอบข่าวสารกับพื้นที่
·      ร้องทุกข์/ร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
·      ร่วมงานเวทีสัญจร/กิจกรรมต่าง ๆ ของวิทยุชุมชน / ช่วยจัดหาทุนสนับสนุน
·      เสนอแนะรูปแบบรายการ
·      ช่วยประชาสัมพันธ์วิทยุชุมชน
ฯลฯ
(ii)              การมีส่วนร่วมในระดับผู้ผลิตรายการ/ผู้ดำเนินรายการ
เป็นระดับการมีส่วนร่วมที่สูงขึ้นมา ซึ่งมีได้หลายรูปแบบตามความสนใจและโอกาสเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยของประชาชน เช่น
·      เป็นอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ส่งข่าวสาร (แบบวิทยุ จส.100) โดยคัดเลือกเนื้อหาข่าวสารที่น่าสนใจมาให้
·      ช่วยเป็นแหล่งข้อมูลประจำสำหรับการแนะนำวิทยากร/แขกรับเชิญในพื้นที่
·      ทำหน้าที่เป็นแขกรับเชิญ/วิทยากร/ผู้ให้สัมภาษณ์แบบบางโอกาสหรือแบบประจำ
·      เข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ ในแง่ของการช่วยเลือกประเด็น เลือกแง่มุม ช่วยรวบรวมข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีบทบาททั้งในขั้นตอนก่อน/ระหว่าง/หลังการผลิต ซึ่งอาจอยู่ในฐานะอนุกรรมการ/คณะกรรมการผลิตเนื้อหารายการ
·      หากมีความถนัด/มีความสนใจ/มีประสบการณ์และมีเวลาเอื้ออำนวยก็อาจจะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินรายการได้เลย
ฯลฯ
(iii)            การมีส่วนร่วมในระดับบริหารงาน
การมีส่วนร่วมในระดับนี้ถือเป็นขั้นสูงสุดของการมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่นการเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชน ซึ่งจะมีบทบาทหลากหลายอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น
·      เป็นผู้วางแผนและนโยบายเกี่ยวกับวิทยุชุมชน
·      เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ
·      เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเพิ่ม/ลดช่วงเวลาออกอากาศ/เนื้อหา
·      เป็นผู้วางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิทยุชุมชน
ฯลฯ
มีข้อเสนอที่น่าสังเกตเกี่ยวกับระดับการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ระดับนี้ดังนี้
·      รูปแบบของการเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละระดับขั้นจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปิรามิด กล่าวคือ จำนวนคนที่จะเข้าไปร่วมในระดับผู้ฟังจะมีได้มาก ในระดับผู้ผลิตรายการจะมีได้น้อยลง และในระดับผู้บริหารจะมีคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น

ระดับผู้บริหาร

 
ระดับผู้ผลิตรายการ
ระดับผู้ฟัง
 

 

 
 
 
 
 
 
 

·      จากผลการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนที่ผ่านมา มีความเข้าใจผิดว่า ถ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในวิทยุชุมชน ก็ต้องเข้าไปร่วมเป็น “ผู้จัดรายการ” เท่านั้น ซึ่งการเข้าร่วมในระดับดังกล่าวมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบหลากหลายของการมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะระดับผู้ฟังที่ได้กล่าวมาแล้ว
·      เมื่อนำแนวคิดเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ไปประกอบกับแนวคิดเรื่อง “การฝึกอบรม” และนำมาผสมผสานกับความคิดเรื่อง “การหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกัน” ก็จะทำให้วิทยุชุมชนมีกองทัพอาสาสมัครจำนวนมหาศาลที่มีความสามารถที่จะกระจายหมุนเวียนกันเข้าไปแบกรับภารกิจของวิทยุชุมชนได้อย่างยาวนาน และเมื่อนั้นวิทยุชุมชนก็จะไปไม่เป็นเพียง “ของเล่นชั่วคราว” แต่จะเป็น “ปากเสียงของชุมชนตลอดไป”
·      และเมื่อมีกองทัพอาสาสมัครจำนวนมากที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานวิทยุ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม รูปแบบระดับสูงของวิทยุชุมชนที่มีชุมชนเป็นเจ้าของสถานีหรือเป็นเจ้าของคลื่นก็มิใช่เรื่องไกลเกินฝัน
(3)   ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากบทเรียนการทำวิทยุชุมชนที่ผ่านมา มีการค้นคว้าสร้างสรรค์กิจกรรมหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการมีส่นร่วมของประชาชนดังตัวอย่างต่อไปนี้
·      กิจกรรมการเปิดตัววิทยุชุมชน
เมื่อปี พ.ศ. 2544 วิทยุชุมชนของคนโคราชได้จัดงานเปิดตัวโครงการวิทยุชุมชนของคนโคราชอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำรายการให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนชาวโคราชทั่วไป ตลอดจนขยายเครือข่ายผู้ฟังและผู้ร่วมผลิตรายการให้มากยิ่งขึ้น ณ สนามศาลากลาง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีกิจกรรมให้ความรู้ในรูปของการจัดนิทรรศการด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ฯลฯ กิจกรรมด้านบันเทิง มีทั้งการแสดงดนตรี ขบวนกลองยาว ฯลฯ การให้บริการ อาทิการตรวจสุขภาพฟรี ซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และกิจกรรมออกร้านและจำหน่ายผลผลิตกลุ่มแม่บ้านเกษตร
ผลของการจัดงานเปิดตัวดังกล่าวประสบผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากมีคนเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก กิจกรรมดังกล่าวทำให้สาธารณชนมีโอกาสได้รู้จักกับวิทยุชุมชน
·      กิจกรรมวิทยุสัญจร (ดูรายละเอียดในกรณีศึกษาวิทยุชุมชนของคนโคราช)
อีกกิจกรรมหนึ่งที่นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้คนมาเข้าร่วมกิจกรรมของวิทยุชุมชน รวมทั้งเป็นการขยายเครือข่ายผู้สนใจออกไป คือการจัดวิทยุชุมชนสัญจร อันเป็นการจัดรายการนอกสถานที่ของวิทยุชุมชน โดยมีการนำอุปกรณ์สำหรับการส่งกระจายเสียงไปติดตั้งชั่วคราว ณ สถานที่จัดกิจกรรม อาทิ หมู่บ้าน ตำบล โรงเรียนต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดรายการออกอากาศในเวลาของวิทยุชุมชน
กิจกรรมของวิทยุสัญจรนี้เท่ากับได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจงานวิทยุได้สัมผัสกับวิธีการจัดทำวิทยุอย่างใกล้ชิด เพราะได้เห็น “เบื้องหลังการถ่ายทำ” ของงานวิทยุ
·      กิจกรรมขยายเครือข่ายผ่านงานประชาสัมพันธ์
ข้อเสนอแนะของกลุ่มวิทยุชุมชนปัตตานีเกี่ยวกับการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือ การขยายเครือข่ายโดยใช้รูปแบบการประชาสัมพันธ์แบบต่าง ๆ เช่น รถแห่ สปอตประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ และใบปลิว รวมทั้งอาจมีการใส่หมายเลขเอาไว้ที่แผ่นพับเพื่อจับสลากชิงรางวัล ซึ่งเป็นการดึงดูดความสนใจด้วยวิธีการแบบของชาวบ้าน
·      กิจกรรมการจัดนิทรรศการ
ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะขยายความเข้าใจ และดึงดูความสนใจให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมในงานวิทยุชุมชน การจัดนิทรรศการนั้นอาจจะถือโอกาสเข้าไปร่วมจัดในงานประเพณีต่างๆ ของจังหวัดหรือชุมชน เช่น งานกาชาดจังหวัด งานเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งการจัดนิทรรศการดังกล่าวนั้นสามารถจะสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าสนใจ ทั้งที่เป็นเนื้อหาแบบนิ่ง ๆ เช่นการจัดบอร์ดนิทรรศการแนะนำว่าวิทยุชุมชนอะไร รวมทั้งเนื้อหาที่วิ่งได้เคลื่อนไหว เช่น การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาทดลองจัดรายการร่วมกับผู้จัดรายการจริง ๆ เป็นต้น
 
1.6.3       การบริหารจัดการงบประมาณ
(1)   ความสำคัญของงบประมาณ
 ในการจัดทำสื่อกระจายเสียงซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่งนั้น จะต้องมีลักษณะแบบเหรียญ 2 ด้านอยู่เสมอ คือทั้งด้านที่ทำเพื่อสาธารณะประโยชน์และด้านที่เป็นธุรกิจ

ด้านที่ทำเพื่อสาธารณะประโยชน์

 
ด้านที่เป็นธุรกิจ
 

 

 
 
 
 

     ทั้งนี้เนื่องจากการจัดทำรายการวิทยุนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ การติดต่อประสานงาน ค่าอุปกรณ์เครื่องมือและการซ่อมแซม ค่าสถานที่ ค่าไฟฟ้าน้ำประปา ฯลฯ ดังนั้น ความจำเป็นในเรื่องงบประมาณจึงเกิดขึ้น
 
 
(2)   หลักการของการบริหารจัดการงบประมาณของวิทยุชุมชน
(i)               แต่ถึงแม้วิทยุชุมชนจะต้องมีลักษณะทั้ง 2 ด้านดังที่กล่าวมาแล้ว และในด้านหนึ่งวิทยุชุมชนจะต้องสามารถบริหารจัดการเรื่องงบประมาณให้สำเร็จลุล่วงได้ มิฉะนั้น ชีวิตของวิทยุชุมชนก็คงต้องจบสิ้นลงเมื่อหมดสิ้นงบประมาณ ดังที่ปรากฏขึ้นแล้วในหลาย ๆ แห่ง แม้กระนั้นในอีกด้านหนึ่งเป้าหมายหลักของการทำวิทยุชุมชนก็ต้องชัดเจนว่า ต้องไม่ใช่การแสวงหากำไรที่เป็นตัวเงิน (แม้จะทำธุรกิจก็ตาม) การบริหารจัดการเรื่องงบประมาณ กระทำไปเพียงเพื่อให้พอเลี้ยงตัวได้ มิใช่หวังกำไรเป็นตัวเงิน
(ii)              ต้องกระจายแหล่งรายได้ให้มาจากหลายแห่ง เพื่อป้องกันการพึ่งพาแหล่งรายได้เพียงอันใดอันหนึ่งและรักษาความเป็นอิสระของวิทยุชุมชนในทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สถานีวิทยุชุมชน  KANU ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มีการกระจายแหล่งรายได้จากหลาย ๆ แหล่งคือ
·      จากเงินอุดหนุนของรัฐ 17%
·      จากค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี ประมาณ 65%
·      จากโฆษณา 10%
·      ที่เหลือเป็นรายได้จากการระดมทุน
(iii)             ในการรับเงินทุนสนับสนุน/งบประมาณจากแหล่งใด ๆ ก็ตาม จะต้องเป็น การรับอย่างไม่มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน ที่จะทำให้เบี่ยงเบนไปจากหลักการของวิทยุชุมชน และจำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการปฏิบัติดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หลักเกณฑ์เรื่องการรับเงินโฆษณาสินค้าจากบริษัทห้างร้าน สามารถทำได้ แต่ให้มีสปอตสั้น ๆ เพียงกล่าวคำขอบคุณและระบุชื่อสินค้านั้นเพียง 1 ประโยค เป็นต้น
(iv)            ต้องมีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีระบบระเบียบชัดเจน โดยมีการจัดทำระบบบัญชีรับจ่าย มีระเบียบการเบิกจ่าย เป็นระบบงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ มีการบันทึก โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น การดำเนินงานการบริหารจัดการที่มีระบบเช่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมากยิ่งขึ้น เมื่อวิธีการหารายได้บางวิธีมาจากการบริจาค ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้ผู้บริจาคไว้วางใจว่า ได้ใช้เงินไปตามเจตน์จำนงของผู้บริจาค และควรมีระบบการป้อนข้อมูลกลับ (feedback) เช่น การรายงานผลย้อนกลับไปสู่ผู้บริจาคว่า ได้ใช้จ่ายเงินดังกล่าวไปสำหรับกิจกรรมใดบ้าง
(3)   ข้อเสนอแนะเรื่องการแสวงหางบประมาณ
ปัจจุบันนี้ วิทยุชุมชนที่เป็นโครงการทดลองของกรมประชาสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ ยังคงพึ่งพางบประมาณจากกรมฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ดังนั้น ในงานวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนหลายชิ้นจึงให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการแสวงหางบประมาณสำหรัยวิทยุชุมชนดังนี้
(i)               มาจากหน่วยงานรัฐส่วนกลางในหลายรูปแบบ เช่น
·      ยกเว้นค่าเช่าสถานีให้แก่รายการวิทยุชุมชน
·      เนื่องจากรัฐได้แบ่งให้มีการจัดสรรคลื่น 40% ให้แก่ภาคเอกชนนำไปหารายได้และจ่ายเงินในรูปของสัมปทานหรือรูปแบบอื่น ๆ คืนให้แก่รัฐ รัฐจึงควรแบ่งรายได้ส่วนนี้มาอุดหนุนวิทยุชุมชน โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการวิทยุชุมชน เป็นต้น
(ii)              มาจากหน่วยงานท้องถิ่น
ปัจจุบันมีการกระจายนโยบายการคลังและการจัดเก็บเงินรายได้ลงไปให้หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดังนั้น ควรให้หน่วยงานเหล่านี้สนับสนุนงบประมาณแก่วิทยุชุมชน
(iii)            มาจากการโฆษณาของภาคธุรกิจเอกชนโดยมีการกำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์ดังที่ได้เสนอมาแล้ว
(iv)            มาจากแหล่งเงินทุนขององค์กรความช่วยเหลือที่ไม่หวังผลกำไร ตัวอย่างเช่น วิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี ซึ่งเคยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนทางสังคม (SIF) และวางแผนจะเขียนโครงการของทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และสหประชาชาติ เป็นต้น
(v)             หาวิธีการหารายได้ด้วยตนเอง เช่น วิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานีนำเสนอวิธีการหารายได้เข้ากลุ่ม เช่น
·      จัดทำเสื้อกลุ่มและจัดขาย
·      การขายสินค้าในงานเทศกาล
·      การทำปากกาและของที่ระลึกในนามของกลุ่มออกขาย
(vi)            ใช้รูปแบบทางประเพณีและวัฒนธรรมมาระดมทุนทางสังคม เช่น การจัดงานทอดกฐิน/ผ้าป่าเพื่อก่อตั้งกองทุนวิทยุชุมชน
ตัวอย่างของวิธีการแสวงหารายได้ที่นำเสนอมานี้ จะเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” กล่าวคือ หากสามารถดำเนินการเรื่องการระดมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้สำเร็จมากเท่าใด ก็จะยิ่งแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณได้มากเท่านั้น
 
 
 
 
 
 
 
 
1.6.4       การติดตั้งกลไกการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญ/หลักการของการประเมินผล

 
การเข้าถึง/ความสนใจของผู้ฟัง
ประเมินผลรายการ
ประเมินบทบาท/หน้าที่
ประเมินการมีส่วนร่วม
มิติการประเมินผล
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

(1)   ความสำคัญและหลักการที่เกี่ยวกับการประเมินผล
เมื่อใดที่เรายิงธนูออกจากแหล่ง แล้วไม่มีการติดตามไปดูผล เราก็ไม่มีทางทราบว่า ลูกธนูนั้นเข้าเป้าหรือไม่ และเมื่อไม่ทราบว่าการยิงไปนั้นถูกเป้าหรือเปล่า เราก็ไม่มีทางรู้อีกต่อไปว่า จะต้องย้อนกลับมาปรับปรุงการยิงหรือไม่ อย่างไร
การประเมินผลงานจึงเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนางาน สำหรับงานวิทยุชุมชนนั้น ควรมีหลักการเกี่ยวกับการประเมินผลดังนี้
·      มีการติดตั้งกลไกประเมินผลเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน โดยมีการกำหนดทั้งตัวบุคคล กิจกรรม และระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ดีก็เช่น วิทยุชุมชนบุรีรัมย์ ซึ่งได้จัดให้มีการประเมินผลการทำงานหลังจากที่ออกอากาศไปได้ 3 เดือนแรก เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุง/พัฒนาการทำงาน
·      ใช้รูปแบบการประเมินผลอย่างหลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ผู้ฟัง การใช้แบบสอบถาม/สำรวจขนาดกว้าง ฯลฯ ดังจะได้แสดงรายละเอียดในตอนต่อไป
·      วางแผนให้มีทั้งรูปแบบการประเมินผลแบบเป็นประจำและแบบตามโอกาส เป็นการประเมินทั้งจากภายในองค์กรเองและจากหน่วยงาน/บุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบกัน รูปแบบการประเมินผลแบบเป็นประจำก็เช่น การวางแผนงานเอาไว้ว่า จะต้องมีการประเมินผลการรับฟังทุก 3 เดือน 6 เดือน เป็นการดำเนินการขององค์กรเอง และในบางโอกาสอาจจะจัดให้มีหน่วยงานภายนอกมาประเมินผลภาพโดยรวม ตัวอย่างเช่น วิทยุชุมชนจังหวัดสงขลาที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี ก็ได้มีการวิจัยประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาจากบุคคลภายนอก เป็นต้น
·      การประเมินผลนั้นไม่ควรมีเป้าหมายที่จะจับผิดหรือโจมตีใคร รวมทั้งไม่ควรมุ่งเน้นแต่เรื่องความสำเร็จ/ความล้มเหลวจนหน้ามืดตามัว เราควรมีข้อคิดว่า “ที่ใดมีการทำงาน ที่นั่นย่อมมีการล้มเหลว/ผิดพลาด และอาจจะเป็นใครก็ได้ที่ทำผิดเช่นนั้น” การประเมินผลนั้น ควรมีเข็มมุ่งอยู่ที่ “กระบวนการเรียนรู้” และการนำมาสู่ “การแก้ไขปรับปรุง/หรือพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ”
(2)   มิติของการประเมินผล
เป็นการตอบคำถามว่า เราจะประเมินผลในแง่มุมใดบ้าง สำหรับกรณีวิทยุชุมชนนั้น จากประสบการณ์งานวิทยุชุมชนที่ผ่านมาของไทย พบว่ามีการประเมินผลใน 4 แง่มุมด้วยกันคือ
(i) การประเมินผลการเข้าถึงและความสนใจในการรับฟังของผู้ฟัง
(ii) การประเมินผลรายการ
(iii) การประเมินมิติการมีส่วนร่วมในวิทยุชุมชนในระดับต่าง ๆ
(iv) การประเมินผลการทำบทบาทหน้าที่ของวิทยุชุมชน
 
(i)               การประเมินผลการเข้าถึงและความสนใจในการรับฟังของผู้ฟัง
เป็นมิติแรกของการประเมินเพราะหากผู้ฟังไม่สามารถเข้าถึงวิทยุชุมชนได้ เช่น รัศมีการส่งไปไม่ถึง หรือสัญญาณเสียงไม่ชัดเจน หรือหากไม่ใช่เหตุผลเชิงเทคนิคแต่เป็นเรื่องความไม่น่าสนใจชวนให้ติดตามรับฟังของรายการ หากวิทยุชุมชนไม่สามารถฝ่าด่าน 2 ด่านนี้ได้ มิติอื่น ๆ ก็คงไม่ต้องไปพูดถึง
วิธีการประเมินผลคุณภาพและความสนใจในการรับฟังนี้ โดยปกติแล้วมักจะใช้วิธีการสำรวจประกอบการใช้แบบสองถามหรือการสัมภาษณ์ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยวิทยุชุมชนจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ของอาจารย์วีรพงษ์ และคณะ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ประเด็นที่ทีมวิจัยได้ซักถามครอบคุลมเนื้อหาดังนี้คือ
·      มีการเปิดรับฟังหรือไม่ ฟังแบบใด ช่วงเวลาไหน รายการอะไร
·      แรงจูงใจที่เปิดรับฟัง
·      มีความพึงพอใจหรือไม่ พอใจรายการอะไร รูปแบบรายการ/เนื้อหาที่ชอบ
·      ได้ใช้ประโยชน์อะไรบ้างจากวิทยุชุมชน
·      มีความต้องการอะไรบ้างจากวิทยุชุมชน
 
 
(ii)              การประเมินผลรายการ
ในขณะที่การประเมินผลการเข้าถึงและความสนใจรับฟังนั้น เป็นการประเมินภาพโดยรวมของวิทยุชุมชนทั้งหมด แต่ในกรณีที่วิทยุชุมชนนั้นมีหลายรายการ ก็อาจจะมีการประเมินผลเจาะลงมาที่รายการแต่ละรายการเป็นพิเศษ โดยอาจมีเป้าหมายที่จะเพิ่ม/ลด/ตัดรายการหรือมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนารายการ
ประเด็น/หัวข้อที่จะประเมินรายการอาจจะครอบคลุมเนื้อหาดังนี้
·      ความเหมาะสมของช่วงเวลา
·      ความสั้นยาว/ความพอดีของเวลารายการ
·      เนื้อหารายการ (ประโยชน์/ความน่าสนใจ/ความเหมาะสม/ยากง่าย ฯลฯ)
·      ผู้ดำเนินรายการ (การพูด/ความเป็นกันเอง/ภาษาที่ใช้/ ฯลฯ)
·      แขกรับเชิญ/วิทยากร
·      จังหวะในการนำเสนอเนื้อหา
·      เพลงที่ใช้ในรายกร
ฯลฯ
สำหรับวิธีการประเมินผลรายการก็ยังคงจะใช้วิธีการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถาม และหากต้องการข้อมูลที่ลึกซึ้งหลากหลายมากขึ้น ก็อาจจะใช้วิธีการสนทนากลุ่มด้วยการจัดสถานการณ์ให้ผู้ฟังหลาย ๆ คนมานั่งสนทนากันตามหัวข้อที่ผู้ประเมินตั้งเอาไว้
(iii)            การประเมินมิติการมีส่วนร่วมในวิทยุชุมชนในระดับต่าง ๆ
เนื่องจากหัวใจสำคัญของวิทยุชุมชนคือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินผลการมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ตัวอย่างเช่น
·      การประเมินผลการมีส่วนร่วมในระดับผู้ฟัง หัวข้อคำถามที่ใช้จะเป็นไป           ตามเรื่องการมีส่วนร่วมที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น
-        ร่วมฟังอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
-        ร่วมแจ้งข่าวสาร
-        ร่วมเสนอประเด็น
-        ร่วมร้องทุกข์
-        ร่วมเวทีสัญจร
-        ร่วมโทรศัพท์เข้ามาในรายการ/วัตถุประสงค์ของการโทรเข้ามา
-        ร่วมเขียนจดหมายติชม/เสนอรายการ
ฯลฯ
 
·      การประเมินผลการมีส่วนร่วมในระดับผู้ผลิต หัวข้อคำถามก็เช่น
-        เคยเข้ามาเป็นผู้ร่วมจัดรายการ
-        เคยเข้ามาเป็นแขกรับเชิญ
-        เคยเป็นแหล่งข้อมูล
ฯลฯ
·      การประเมินผลการมีส่วนร่วมในระดับผู้บริหาร หัวข้อคำถามก็เช่น
-        ความกระตือรือร้นในการทำงาน
-        ความรับผิดชอบในการทำงาน
-        ความสม่ำเสมอในการเข้าประชุม
ฯลฯ
วิธีการใช้ในการเก็บข้อมูลอาจจะใช้หลาย ๆ วิธีประกอบกัน เช่น
·      การใช้แบบสำรวจ/แบบสอบถาม/แบบสัมภาษณ์
·      การดูบันทึกเอกสาร เช่น อัตราการโทรศัพท์เข้ามา บันทึกรายงานผลประชุมของคณะกรรมการบริหาร
·      การสังเกตการณ์ เช่น เข้าสังเกตการณ์การจัดการรายการ การประชุมของคณะทำงาน เป็นต้น
(iv)            การประเมินผลการทำบทบาทหน้าที่ของวิทยุชุมชน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วิทยุชุมชนนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่หลัก 2 ประการคือ การเป็นสื่อประชาธิปไตยเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคม และการเป็นเครื่องมือหนุนช่วยการพัฒนาสังคมในมิติต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินผลการทำหน้าที่บทบาทของวิทยุชุมชนว่าเป็นไปตามหลักการหรือไม่
ในงานวิจัยวิทยุชุมชนจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ได้มีการประเมินบทบาทของวิทยุชุมชนเอาไว้อย่างละเอียดโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหารายการที่ออกอากาศไปแล้ว และตั้งเกณฑ์การแสดงบทบาทเอาไว้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อ “หน้าที่และประโยชน์ของวิทยุชุมชน”) เช่น
·      บทบาทตามทิศทางการไหลของข่าวสาร
-        ในแนวดิ่ง มีทิศทางคือ
-        จากบนลงล่าง เป็นการถ่ายทอดข่าวสารจากรัฐไปสู่ประชาชน
-        จากล่างขึ้นบน เป็นการถ่ายทอดข่าวสารจากประชาชนไปสู่รัฐ
-        ในแนวนอน คือการติดต่อส่งข่าวสารระหว่างประชาชนด้วยกัน
 
·      บทบาทการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ
-        บทบาทเสริมพลังทางเศรษฐกิจ
-        บทบาทในการจับตาดูการเมืองระดับท้องถิ่น
-        บทบาทในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
ฯลฯ
ผลจากการวิเคราะห์เนื้อหารายการได้ให้ภาพที่ชัดเจนอย่างมากว่า วิทยุชุมชนยังคงเล่นบทบาทหนักไปทางด้านการส่งข่าวสารแนวดิ่งจากบนลงล่าง โดยมีสัดส่วนรายการประเภทนี้ถึงเกือบครึ่งหนึ่ง 42%และมีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นการสื่อสารแนวนอนระหว่างประชาชน ซึ่งเท่ากับว่าวิทยุชุมชนยังไม่ได้เล่นบทบาทที่โดดเด่นแตกต่างไปจากวิทยุสาธารณะที่เคยมีมา การรับทราบผลจากการประเมินเช่นนี้ ช่วยให้ทิศทางในการหันกลับมาปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบรายการได้อย่างดี
นอกเหนือจากวิธีการวิเคราะห์เนื้อหารายการ ซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ผลอย่างแน่นอนในการประเมินผลเรื่องบทบาทหน้าที่แล้ว อาจจะใช้วิธีการสำรวจ/สัมภาษณ์/ซักถามผู้ฟัง – ผู้ผลิตรายการ/คณะผู้บริหารวิทยุชุมชนประกอบด้วยก็ได้