มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
อีเมล พิมพ์ PDF

3. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารและผลงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อวิทยุ การผลิตรายการ การรับฟังรายการทางวิทยุกระจายเสียง คณะผู้วิจัยขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

พิรงรอง รามสูตรณะนันท์และศศิธร ยุวโกศล (2546 : บทคัดย่อ) ทำการวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ในประเทศไทย” สรุปได้ว่า ข้อเสนอแนะและแนวทางนโยบายสำหรับการกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ออกได้เป็นประเด็นต่างๆ ได้แก่ วัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นที่เสรีภาพในการแสดงออก การรับรู้ข่าวสาร สิทธิส่วนบุคคล และมาตรฐานของเนื้อหา

บุษยารัตน์ อภินันทศรี (2542 : บทคัดย่อ) ทำการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาสถาบันราชภัฎมหาสารคามที่มีต่อรูปแบบการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงในปัจจุบัน” พบว่า ส่วนใหญ่นั้นจะฟังเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพื่อความเพลิดเพลิน และเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนเองตามลำดับ ที่สำคัญทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับความรู้ความเป็นไปของสังคมปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการให้มีรายการสาระบันเทิงที่สอดแทรกความรู้เข้าไปด้วย

ดวงจันทร์ ศิริบัญชาชัย (2537 : 299) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย พบว่า บทบาทของวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏมี 6 ประเภท คือ 1. เป็นสื่อกลางระหว่างจุฬาฯและชุมชนภายในและภายนอกสถาบัน 2. ให้ความรู้และการศึกษา 3. ให้ความบันเทิง 4. เป็นกระบอกเสียงให้จุฬาฯ 5. รักษาภาพลักษณ์จุฬาฯ 6. ชี้นำสังคม

ศรีประภัสสร์ สุทธีเสวันต์ (2534 : 292) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดและวิธีการนำเสนอรายการข่าววิทยุกระจายเสียง พบว่า รายการวิทยุในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ รายการข่าวประเภทเป็นทางการ รายการข่าวประเภทไม่เป็นทางการ ซึ่งรายการข่าวประเภทเป็นทางการสามารถแบ่งแยกได้ 2 รูปแบบ คือ รายการข่าวรวม รายการข่าวสั้นทุกชั่วโมง ส่วนรายการข่าวประเภทไม่เป็นทางการแยกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ รายการพูดคุยข่าว รายการข่าวชาวบ้าน และรายการละครข่าว ส่วนวิธีการนำเสนอมีคล้ายคลึงกันในเรื่อเพลงประจำรายการ และมีความแตกต่างในเรื่องเทคนิคลีลาการพูด เสียงประกอบรายการ เนื้อหาที่นำเสนอ และการได้มาของข่าว นอกจากคุณค่าของข่าวในประเภทเป็นทางการมีคุณค่าข่าวในเรื่องความรวดเร็ว ความสำคัญ และผลกระทบต่อประชาชน ส่วนรายการประเภทไม่เป็นทางการมีคุณค่าข่าวในเรื่องที่คนทั่วไปสนใจ ความใกล้ชิดและความแปลก

สมควร กวียะ (2533 : บทคัดย่อ) ได้วิจัยเรื่อง “นิสัยการรับข่าวของชนบทไทย” กลุ่มตัวอย่างครอบครัวที่สมรส หรือบุตรธิดาคนแรกของครอบครัวมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 990 คน ภาคกลาง 100 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 118 คน ภาคใต้ 203 คน สรุปได้ว่า สื่อประเภทโทรทัศน์ชายชอบรายการกีฬา ส่วนหญิงชอบรายการบันเทิง พิจารณาตามอายุ 15- 19 ปี ชอบรายการประเภทบันเทิงมากที่สุด ส่วนสื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด คือ วิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ตามลำดับ

จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องข้างต้นพอจะสรุปว่า การสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะด้านวิทยุกระจายเสียงยังมีบทบาทต่อการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ไปยังผู้ฟังรายการ ถ้าขาดสื่อประเภทวิทยุกระจายเสียงแล้วล้วนย่อมเกิดผลเสียเป็นอย่างแน่แท้ เพราะวิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อที่ให้ข่าวสารที่เร็วทันใจทุกยุคทุกสมัย

 

สารบัญ