มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ความเป็นมาของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย
อีเมล พิมพ์ PDF

 ความเป็นมาของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

ยุคแรกที่ประเทศไทยเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงนั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ดำเนินงาน

มิได้มีการจัดรายการที่แน่นอน แต่เป็นไปในลักษณะการทดลองส่งกระจายเสียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงเพลงและเสียงพูดประกาศ เพื่อเป็นการทดสอบฟังคุณภาพเสียง ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 การส่งกระจายเสียงได้เริ่มมีการประกาศข่าวสาร ประกาศโฆษณาของบริษัท ห้างร้าน กระทั่งในปี 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย สถานีวิทยุกระจายเสียงจึงได้จัดรายการให้ออกอากาศกระจายเสียงแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนไทยในรูปแบบการอ่านข่าวขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

ในปี พ.ศ. 2481 ได้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียงมาสังกัดงานโฆษณาการ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโฆษณาการและกรมประชาสัมพันธ์ตามลำดับ การจัดรายการเริ่มพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังเป็นไปในรูปของการประกาศข่าว การใช้เพลงจากแผ่นเสียง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รายการทางวิทยุกระจายเสียงจะเน้นในการเสนอข่าวมากขึ้น เมื่อสงครามโลกยุติลง การขยายตัวของวิทยุกระจายเสียงเพิ่มมากขึ้นจากสถานีเพียงสถานีเดียวคือ สถานีวิทยุกระจายเสียงสังกัดกรมโฆษณาการ

ต่อมารัฐบาลเห็นความสำคัญของวิทยุกระจายเสียงมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2492 ได้ขยายกิจการวิทยุกระจายเสียงกว้างขวางออกไป นักวิทยุกระจายเสียงตื่นตัวกันมากขึ้นได้มีการจัดรายการรูปแบบต่างๆ ขึ้น คือ มีการจัดรายการสารคดี การสัมภาษณ์ การสนทนา การตอบปัญหา และได้มีการนำรูปแบบการจัดรายการของต่างประเทศมาใช้ โดยเฉพาะสถานีของหน่วยราชการทหาร จัดรายการที่เน้นหนักไปทางเพลงและข่าวสาร การรณรงค์เพื่อความมั่นคงของชาติมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2495 จัดตั้งสถานีวิทยุ 1 ปณ. ขึ้นส่งกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันพร้อมกัน 4 ขนาดคลื่น ทำให้ประชาชนเกือบทั่วทั้งประเทศสามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงได้ การจัดรายการในระยะนี้มีทั้งรายการเพลงจากแผ่นเสียง การนำบทความจากหนังสือมาอ่านเพื่อเผยแพร่ความรู้ การแสดงสดของวงดนตรีทั้งไทยและสากล รายการละครวิทยุและเริ่มมีการโฆษณาสินค้าบ้าง ในปี พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในรูปแบบของการค้าและจดทะเบียนในรูปของบริษัทขึ้นใช้ชื่อว่า “สถานี ททท.” เป็นบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดำเนินกิจการด้านวิทยุโทรทัศน์ทางการค้า ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. การก่อตั้งสถานีวิทยุ ททท. ในสมัยนั้นได้นำความก้าวหน้ามาสู่วงการวิทยุกระจายเสียง ในด้านการจัดรายการมากขึ้น เพราะเริ่มมีการแข่งขันกันในด้านคุณภาพของรายการ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟังมากขึ้น ได้มีการนำรูปแบบรายการจากต่างประเทศมาประยุคมากขึ้น เช่น

มีรายการอภิปรายข้ามแดน คือจัดรายการอภิปรายระหว่างวิทยุ 1 ปณ. และ ททท. มีรูปแบบรายการ

นิตยสาร และสารคดีจากของจริง (actuality feature) มีการจัดรายการโดยแบ่งเป็นภาคต่างๆ เช่น ททท.

ภาคละคร เพลง และภาคปกติเสนอข่าวสารความรู้และความบันเทิงโดยทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2500 บริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด ได้เริ่มส่งกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มขึ้นเป็นครั้งแรก การจัดรายการสำหรับระบบเอฟเอ็มจะเน้นรายการเพลงและข่าวสารเป็นสำคัญ นับได้ว่าการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนาขึ้นมาจนเรียกได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองทางการกระจายเสียงอย่างมาก และเช่นเดียวกับกิจการวิทยุกระจายเสียงในสหรัฐอเมริกายุคหนึ่งซึ่งเมื่อรุ่งเรืองแล้วกลับซบเซาลง เพราะ

วิทยุโทรทัศน์เริ่มเฟื่องฟูขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้รายการทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

ในประเทศไทยก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดนัก อาจกล่าวได้ว่าการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงของไทยปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นรายการเพลง ซึ่งเกิดขึ้นและแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก นอกจากนั้นจะเป็นรายการสาระบันเทิงในรูปแบบอื่น เช่น ละคร ตลอดจนเกล็ดความรู้ประกอบเพลง เป็นต้น

ความเป็นมาของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงย่อมสะท้อนให้เห็นสภาพการณ์วิวัฒนาการ และความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศได้อย่างดี การนำเอาวิวัฒนาการของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงทั้งจากประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษและประเทศไทยมาเขียนไว้ ก็เพื่อให้ได้ศึกษาและค้นคว้าเปรียบเทียบความก้าวหน้าของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อประโยชน์ศึกษาต่อๆ ไป โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าการจัดรายการของประเทศไทยนั้นมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป พัฒนาขึ้นโดยนำรูปแบบการจัดรายการจากต่างประเทศมาพัฒนา (สุพรรณี มังคะลี. 2531 : 4-5)

 

สารบัญ